เรื่องของ “ใจ” ดูจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนในทุกๆภาษา การแปลคำว่า “ใจ” เป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาของตนจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก อย่างไรก็ตามมนุษย์ทุกชาติ ทุกภาษาล้วนมีถ้อยคำและวลีที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับ “ใจ” ทั้งสิ้น
สำนวนที่อยากยกมากล่าวเป็นพิเศษ ก็คือ a change of heart ไม่ได้แปลว่า ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ หรือ heart transplant ทั้งไม่ได้แปลว่า เปลี่ยนคู่ควงหรือเปลี่ยนคนรัก a change of heart กลับหมายถึง กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี เช่น เคยเป็นกระเทยก็เลิกเป็น เคยคิดจะไม่มีแฟนก็คิดจะมี เป็นต้น อีกทั้งไม่ได้หมายความว่า เปลี่ยนใจได้ง่าย ซึ่งฝรั่งจะใช้คำว่า
He is a changeable fellow. = เอาแน่เอานอนอะไรกับเขาไม่ได้
เรื่องใจนั้นผู้หญิงดูจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบในเชิงอุปมาอุปมัย โดยเฉพาะจากบทวรรณคดีต่างๆ เช่น ถูกพูดถึงว่าเป็น a fickle lover แปลว่า คู่รักประเภทหลายใจในบทละครของ เชคสเปียร์ มีคำพูดตอนหนึ่งว่า Frailty, Thy name is Woman หรือ ความอ่อนไหวเอย, นามของเจ้าคือ “หญิงสาว” คลับคล้ายกับกลอนไทยที่ว่า น้ำใจนางเหมือนอย่างชลาลัย ไม่เลือกไหลห้วยหนองคลองละหาน หรืออะไรทำนองนั้น
อย่างไรก็ตาม มีนักเขียนฝรั่งอีกคนพูดถึงผู้ชายว่าเหมือนกับผู้หญิงนั่นแหละ ที่ปล่อยให้จิตใจเป็นฝ่ายชักจูงบ่อยครั้งมากกว่าความเข้าใจ สำนวนเดิมพูดว่า
Men as well as women are much oftener led by their hearts than their understanding.
เวลาโกรธใครขึ้นมาตงิดๆเช่น โมโหว่าเหล่อนเปลี่ยนใจเรื่อยๆไม่รู้จะเอาอย่างไรกันแน่ มีแต่อารมณ์ยึดไว้เป็นสรณะหรือเป็นที่ตั้ง ก็มักบอกกันว่า She does not know her own mind.
ส่วนเวลารักกันแบบน้ำผักต้มชมว่าหวาน ก็พูดเสียว่า heart and soul แปลว่า สุดจิตสุดใจ เช่น บอกว่า
I am yours heart and soul.
ส่วนมากเวลาอกหักก็ใช้คำว่า “ใจ” อีกเช่นกัน ภาษาฝรั่งพูดตรงตัวว่า ร้องไห้จนขาดใจ หรือ cry one’s heart out ตรงกับภาษาไทยที่ว่า น้ำตาเช็ดหัวเข่านั่นแล
เรื่องของ “ใจ” ดูจะกว้างขวางมาก เพราะพัวพันกับอารมณ์จึงมีคำต่างๆหลากหลาย เช่น ใจฝ่อ, ดีใจ, เสียใจ, ใจเต้น, ทำใจ, จำใจ และอื่นๆ
สำนวนหนึ่งที่น่าสนใจคือ wear one’s heart upon one’s sleeve ซึ่งหมายถึง การแสดงความรู้สึกทางใจอย่างเปิดเผย ดีใจหรือเสียใจก็เที่ยวบอกใครๆเขาเสียทั่วหรือไม่ก็แสดงออกบนใบหน้า
ถ้าแสดงให้เห็นว่า “ใจฝ่อ” ภาษาฝรั่งพูดตรงตัวว่า เอาหัวใจไปซุกอยู่ในรองเท้าบู๊ท สำนวนจริงก็คือ wear one’s heart in one’s boots ถ้าใจฝ่อสุดขีดขนาดใจเต้นสั่นด้วยความกลัว กลับพูดเสียว่า เอาหัวใจไปไว้ในปาก คล้ายๆกับสำนวนไทยที่ว่า กลัวจนหัวใจหล่นไปอยู่ตรงตาตุ่ม นับเป็นอาการลนลานอย่างหนึ่ง โดยใช้คำว่า have one’s heart in one’s mouth
ส่วนคนที่ฝังใจกับสิ่งใดเป็นพิเศษ เช่น หลงใหลคลั่งไคล้ใครสักคนหนึ่งตรงตัวว่า lose one’s heart to somebody/something โดยมีนัยยะว่า พร้อมจะมอบกายถวายหัวใจ ถ้ามอบให้แล้วสำเร็จผล ก็พุดว่า do one’s heart good แปลว่า ทำให้จิตใจกระชุ่มกระชวยตลอดจนใจชื้น
นักสอนศาสนาที่ชื่อ มาร์ติน ลูเธอร์ คงเห็นว่ามนุษย์ต้องวนเวียนอยู่กับเรื่องจิตใจอยู่ตลอดเวลา เลยพูดเปรียบเปรยไว้น่าฟังว่า
“The human heart is like a ship on a stormy sea driven by winds blowing from all four corners of heaven.”
“หัวใจมนุษย์เปรียบประดุจนาวาในท้องทะเลปั่นป่วนที่ถูกคลื่นลมจากฟากฟ้าซัดกระหน่ำทุกสารทิศ”
ส่วนกวีอีกคนหนึ่งที่คนไทยคุ้นหูกันค่อนข้างมาก ชื่อ ระพินทร์นารถฐากูร นิพนธ์ไว้ในงาน คีตาญชลี ว่า
“Where the head is held high,
The heart is without fear.”
พอจะแปลกวีไพเราะบทนี้อย่างกล้อมแกล้มได้ว่า
“เมื่อเชิดศีรษะให้สูงขึ้นได้ หัวใจก็สิ้นแล้วซึ่งความกลัว”
ขอบคุณที่มา จากหนังสือ "สนุกภาษาฝรั่งกับประเดิม" เขียนโดย คุณนพพร สุวรรณพานิช พิมพ์ปีพ.ศ. 2541
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น