วันอังคาร, มีนาคม 27, 2561

ช่วงพักฟื้น ยา และ ค่ารักษาพยาบาล

บทความนี้เป็นเรื่องราวต่อจากบทความหัวข้อ  ในวันที่ฉันป่วยหนัก ณ ร.พ.รัฐของประเทศฟินแลนด์
 
หลังจากที่เดินทางออกจากโรงพยาบาล เราต้องนำใบสั่งยาไปที่ร้านขายยาเพื่อซื้อยาที่หมอกำกับให้ทานขณะพักฟื้นที่บ้าน ตัวยาที่ระบุในใบสั่งยา คือ Cefalexin 500mg และ Metronidazol 400mg ครั้งละสองเม็ด วันละสามครั้งหลังอาหาร เป็นเวลาสิบวัน และในระหว่างวันเภสัชกรแนะนำให้ทาน Probiotics ควบคู่ไปด้วย 

ยาปฏิชีวนะที่ต้องทานหลังจากออกจากโรงพยาบาล ครั้งละสองเม็ด สามเวลาหลังอาหาร
ควบคู่กับ Probiotics สองแคปซูลเช้าและเย็น ซึ่งช่วยเพิ่มเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ให้กับทางเดินอาหาร

ทำไมต้องทาน Probiotics  

ในร่างกายของเรามีเชื้อโรคเล็กๆประจำถิ่น เช่น แบ็คทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา อยู่มากมายเต็มไปหมดตั้งแต่ในช่องปากไปจนถึงลำไส้ และช่องคลอด รวมถึงบนผิวหนังของเราด้วย หากร่างกายเราอยู่ในสภาวะปกติ เชื้อโรคพวกนี้จะไม่ก่อให้เกิดโรค และพวกมันยังมีหน้าที่สำคัญต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรียในลำไส้ หรือ Probiotics ช่วยย่อยอาหาร ผลิตสารอาหารที่สำคัญ ควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน และปกป้องเราจากเชื้อโรคร้าย แต่หากมีปัจจัยที่ทำให้ระบบนิเวศในร่างกายเสียสมดุล เช่นการทานยาปฏิชีวนะที่ไม่เพียงแต่ฆ่าเชื้อโรคร้าย แต่ยังทำลายเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ของเราด้วย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเสริมเชื้อแบคทีเรียพวกนี้เข้าไป เพื่อปรับสมดุลจำนวนประชากรแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดประโยชน์หลายๆด้านต่อร่างกาย

Probiotics มีกี่ชนิด และพบในอาหารอะไรบ้าง

ที่สำคัญและรู้จักกันดี ได้แก่แบ็คทีเรียในกลุ่มที่สร้างกรดแลคติก (Lactic acid bacteria, LAB)
เช่น Lactobacillus และ Bifidobacterium โดยทั่วไปแล้วสามารถพบในอาหารหมักดองหลายชนิด
เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต แหนม กิมจิ แตงกวาดอง dark chocolate, ชีส, miso เป็นต้น (ขอบคุณที่มา https://pantip.com/topic/30217195)

นอกจากจะพบในอาหารแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริม Probiotics ที่จำหน่ายในรูปเม็ด แคปซูล และแบบผงอีกด้วย ส่วนในฟินแลนด์นั้น ส่วนใหญ่เภสัชกรจะแนะนำให้ทานผลิตภัณฑ์เสริม Probiotics สำหรับผู้ที่ต้องทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันหลายวัน ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหารหรือการขับถ่าย ผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อในทางเดินอาหาร เช่นผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงเด็กทารกและเด็กเล็กเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

ประโยชน์ของการทาน Probiotics ที่มีผลการวิจัยรับรอง ได้แก่

1. ลดปัญหาท้องผูกลงได้อย่างชัดเจน ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ถ่ายง่าย
2. ลดปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหารทั้งหลาย เช่น อึดอัด แน่นท้อง ปวดท้อง
ลดโอกาสการติดเชื้อ H. pylori ในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของแผลในกระเพาะอาหาร
3. ป้องกันและลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้
4. ลดโอกาสการเกิดท้องเสียจากเชื้อ Enterovirus ที่เจอได้บ่อยที่สุดในเด็กเล็ก
5. ลดโอกาสการเกิดท้องเสียจากผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะ
6. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสการเป็นภูมิแพ้ในเด็ก
7. ช่วยลดระดับของคอเลสเทอรอล (cholesterol) ฟอสฟอลิปิด (phospolipid) และไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเลือด โดย Lactobacillus acidophilusซึ่งเป็นจุลินทรีย์กลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้จะช่วย ย่อยสลายคอเลสเตอรอล (choloesterol) และยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอล ผ่านผนังลำไส้
8. ป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
9. ป้องกันและช่วยรักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
(ขอบคุณที่มา https://pantip.com/topic/30217195)

วิดีโอด้านล่างให้ความรู้เกี่ยวกับ ระบบนิเวศของเชื้อโรคประจำท้องถิ่นต่างๆที่อยู่ในลำไส้ของเรา รวมถึงประโยชน์ของพวกมัน และอาหารที่ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศนี้ (สามารถเลือกคำบรรยายภาษาไทย โดยไปที่ การตั้งค่า -- คำบรรยาย -- ไทย)




ส่วนวิดีโอนี้อธิบายความสัมพันธ์ของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เชื้อโรคที่ดื้อยา และการรักษาทางเลือกที่ในอนาคตอาจลดจำนวนเชื้อโรคที่ต้านยาปฏิชีวนะได้ (สามารถเลือกคำบรรยายภาษาไทย โดยไปที่ การตั้งค่า -- คำบรรยาย --ไทย)



แผลผ่าตัด ยี่สิบสามวันหลังผ่าตัด ด้ายเย็บแผลหลุดออกแล้ว
ในขณะที่พักฟื้นนั้น ก็ได้รับคำแนะนำให้ทานอาหารที่ย่อยง่าย หมออนุญาตให้เดินเหินได้ตามปกติทั้งในบ้านและนอกบ้าน และยังสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติแต่ควรจำกัดให้อยู่ในระดับที่ร่างกายรับไหว แม้จะต้องงดการอบตัวในซาวน่าเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ แต่ก็อาบน้ำได้ตามปกติและไม่จำเป็นต้องปิดแผลผ่าตัด เพื่อที่ไหมเย็บแผลจะละลายหลุดออกไปได้อย่างสะดวก  ช่วงนี้อาจยังมีเลือดออกคล้ายประจำเดือนประมาณสองถึงสามวัน จึงควรล้างทำความสะอาดบริเวณนี้ด้วยน้ำเปล่า งดการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด งดการมีเพศสัมพันธ์ งดการอาบน้ำในอ่างอาบน้ำหรือการลงว่ายน้ำในสระ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำซ้อน แต่หากมีอาการดังนี้ เช่นมีไข้ แผลผ่าตัดบวมแดง หรือ เจ็บปวดบริเวณท้องน้อย ควรติดต่อแพทย์โดยด่วน และเมื่อครบเวลาหนึ่งอาทิตย์ของการพักฟื้นที่บ้าน เราก็กลับไปทำงานตามปกติ วันแรกยังเดินและทำงานลำบาก แต่ร่างกายและกล้ามเนื้อค่อยๆฟื้นฟูกำลัง วันต่อๆมาจึงมีแรงเดินและลุกนั่งได้ดีขึ้นตามลำดับเพียงแต่ยังไม่สามารถยกของหนักได้ตามปกติ 

หลังจากกลับมาพักฟื้นครบสองอาทิตย์เราก็ได้รับบิลเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาล ปรากฏว่าค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดจำนวนเจ็ดวันหกคืน รวมเบ็ดเสร็จทั้งค่าห้อง ค่าผ่าตัด ค่ายาขณะที่รักษาตัวในร.พ. ค่าอาหาร และค่าบริการต่างๆ รวมทั้งหมดนี้ต้องจ่ายเพียง 342,30 ยูโร หรือวันละ 48,90 ยูโร คิดเป็นเงินไทยน่าจะราวๆ 13,200 บ. (คูณจากเรท 1 ยูโร = 38,55  บาท) หรือวันละ 1,885 บาท



ส่วนตัวคิดว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่แพงเลยสำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ในโรงพยาบาลของรัฐ นี่คงเป็นเพราะฟินแลนด์เป็นรัฐสวัสดิการ คือรัฐนำเงินจากภาษีมาบำรุงระบบการให้บริการสาธารณสุข โดยให้สวัสดิการประกันสุขภาพแก่ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในฟินแลนด์ ให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและราคาไม่แพง โดยไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำหรือสูงก็ได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน และชำระเงินเท่ากัน เพราะรัฐกำหนดให้มีการเก็บค่าบริการทางการแพทย์แต่ละประเภทเป็นจำนวนคงตัว เช่น ระหว่างปี 2018 - 2019 ค่าบริการผู้ป่วยใน (Hoitopäivämaksu) ในโรงพยาบาลของรัฐเท่ากับ 48,90 ยูโร/วัน และเพดานค่าบริการสะสม (Terveydenhuollon maksukatto) รวมในปีหนึ่งไม่เกิน 683 ยูโรหากเกินกว่านี้จะได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าบริการเป็นต้น สามารถอ่านรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงพัฒนาสังคมและสาธารณสุขของประเทศฟินแลนด์เป็นภาษาฟินนิช ตามลิงค์นี้ http://stm.fi/terveydenhuollon-maksukatto

เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเราแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่า การที่รัฐสวัสดิการนำเงินจากภาษีมาบำรุงระบบการให้บริการสาธารณสุข โดยไม่แบ่งแยกระดับการให้บริการหรือแบ่งมาตรฐานโรงพยาบาลของรัฐตามเกรด ทำให้รัฐสามารถควบคุมมาตรฐานระบบการให้บริการสาธารณสุขทั่วทั้งประเทศได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลและได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนมีเงิน หรือคนหาเช้ากินค่ำ หรือแม้แต่ในกรณีที่ไม่มีเงินชำระค่าบริการ ก็ยังสามารถขอรับเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นของรัฐได้ตามความจำเป็น และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของคนที่นี่ดีกว่าบ้านเรา 

นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลก็ยังส่งรายงานเค้สแก่ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ เป็นเอกสารลับส่วนตัวที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับอาการ อาการแสดง การวินิจฉัย การรักษาพยาบาล และการติดตามผล เป็นต้น



สรุปเลยว่า ประทับใจการให้บริการของโรงพยาบาลรัฐของฟินแลนด์มาก เพราะเค้าดูแลเราดีจริงๆ ไม่ใช่แบบประคบประหงมหรือชวนคุยตีสนิท แต่เค้าทำหน้าที่ได้ดีทุกคนเลย ตั้งแต่หมอ พยาบาล ยันแม่บ้าน ให้ยาตรงเวลา เสริฟอาหารตรงเวลา เก็บขยะและทำความสะอาดทุกวัน และที่สำคัญแม้เราจะเป็นคนต่างชาติ ภาษาฟินนิชก็พูดไม่เก่ง แต่ก็ยังดูแลเราดีเหมือนๆคนไข้คนอื่นๆเลย (เราคุยสื่อสารกับหมอเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเป็นการซักไซ้และอธิบายอาการเจ็บป่วยอย่างละเอียด ส่วนพยาบาลและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆที่ดูแลเราเป็นประจำจะพูดภาษาฟินนิชแบบเข้าใจง่ายกับเรา) เป็นครั้งแรกจริงๆที่รู้สึกภูมิใจที่เป็นผู้ชำระภาษีจากรายได้ทุกเดือนมาเป็นเวลากว่าหกปี วันนี้เรารู้แล้วว่าเงินภาษีของเราส่วนหนึ่งมันไปอยู่ไหน และมันกลับคืนมาดูแลเราอย่างไร :)


วันจันทร์, มีนาคม 26, 2561

♫ ร้องรำทำเพลง: This is me. / Keala Settle

ตอนที่นอนป่วยอยู่ในร.พ.น่ะฟังเพลงนี้ทุกวันเลย ตั้งใจว่าพอหายดีแล้วจะฝึกร้อง เอาเข้าจริงเพลงนี้ร้องยากมากนะ มันต้องใส่ความรู้สึกลงไปเยอะ ต้องเข้มแข็ง มั่นคง และมั่นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอนนี้เรายังไม่มีไง เทคนิคก็ไม่เคยเรียน ก็เลยร้องได้แค่นี้ แต่เราใส่ความเป็นตัวเองลงไปนะ เป็น interpretation ของเราเอง หวังว่าเพื่อนๆจะชอบนะ แต่อย่าเอาไปเปรียบกับ cover ของนักร้องยูทูบคนอื่นเลยหนา
เพราะวิดีโอของเรามันยังห่างชั้นกันมากโข
ป.ล. ภาพในวิดีโออาจไม่สวยเท่าไหร่เน่อ คนร้องดูโทรมเพราะช่วงที่ป่วยน้ำหนักลดไปสองกิโล ดูแลสุขภาพด้วยนะเพื่อนๆ อย่าเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนเราเน่อ

Here's my cover of THIS IS ME. I made it while recovering from my illness. Hope you like it!
Song: This is me (ost. The Greatest Showman)
Artist: Keala Settle


วันพฤหัสบดี, มีนาคม 15, 2561

ในวันที่ฉันป่วยหนัก ณ ร.พ.รัฐของประเทศฟินแลนด์

เมื่อฉันป่วย ณ ฟินแลนด์
หน่วยการรักษาพยาบาลในฟินแลนด์ แบ่งออกเป็น สี่หน่วย คร่าวๆดังนี้
  • หมอส่วนตัว/ สวัสดิการรักษาพยาบาลจากนายจ้าง (omalääkäri / työterveyslääkäri) สำหรับผู้ที่มีอาการป่วยเล็กน้อย เป็นหวัด ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน ปวดกล้ามเนื้อ ข้อมือหรือข้อเท้าแพลงหรือต้องการเพียงขอใบสั่งยา หรือใบรับรองแพทย์เพื่อลาพักงาน ส่วนใหญ่จะเป็นคลินิคของเอกชน แต่ที่นี่ไม่สามารถรักษาครอบคลุมได้ทุกโรค
  • ศูนย์อนามัยประจำเมือง (terveyskeskus) ส่วนใหญ่จะให้บริการสำหรับคนไข้นอก เช่น ปฐมพยาบาลฉุกเฉิน ห้องแล็บ ห้องเอ็กซเรย์ ตรวจรักษาฟัน ตรวจร่างกายเพื่อขอใบรับรองแพทย์ ตรวจสุขภาพจิต คลินิคแม่และเด็ก เป็นต้น ยกเว้นกรณีที่คนไข้ถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นในแผนกพักฟื้น กรณีนี้คนไข้จะถูกรับตัวเป็นคนไข้ใน มีพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลคอยดูแล และมีหมอคอยควบคุมให้การรักษาตามอาการ
  • แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล (päivystys) สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยนอกเวลาทำการของศูนย์อนามัยประจำเมือง ป่วยเฉียบพลัน หรือได้รับอุบัติเหตุฉุกเฉิน ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในโรงพยาบาลประจำเขต
  • โรงพยาบาลประจำเขต (sairaala) สำหรับผู้ที่ป่วยหนัก ต้องเข้ารับการรักษาเป็นคนไข้ใน หรือต้องมารับการรักษาโรคเฉพาะทาง เพราะที่นี่มีเครื่องมือพร้อม และบุคลากรและแพทย์เฉพาะทางมากมาย เป็นศูนย์รวมผู้ป่วยจากหลายๆเมืองที่อยู่ในเขตเดียวกัน
ตัวเองเป็นคนที่มีสุขภาพค่อนข้างแข็งแรง นอกจากอาการแพ้ฝุ่นที่เป็นโรคประจำตัวแล้ว นานครั้งจะติดหวัดจากคนที่บ้านหรือที่ทำงาน และในชีวิตที่ผ่านมามีเพียงครั้งเดียวที่ต้องนอนโรงพยาบาล นั่นคือ เมื่อคลอดลูกชายในปี พ.ศ. 2548 ประมาณสองคืนที่จังหวัดบ้านเกิด หลังจากที่ย้ายมาพำนักในประเทศฟินแลนด์ในปี พ.ศ. 2554 เมื่อใดก็ตามที่มีอาการป่วยไข้ที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ เราจะใช้สวัสดิการการรักษาพยาบาลจากคลินิคเอกชน (lääkärikeskus) ที่นายจ้างจัดให้ เพราะสะดวกรวดเร็วกว่าเข้ารักษากับศูนย์อนามัยประจำเมือง ที่เรียกว่า terveyskeskus ซึ่งตัวเองนั้นเคยแต่ใช้บริการในเรื่องเกี่ยวกับทันตกรรม อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน และล่าสุดคือรักษารากฟันเท่านั้น และตัวเองไม่เคยมีอาการป่วยรุนแรง หรือได้รับอุบัติเหตุจนต้องใช้บริการฉุกเฉินจากหน่วยงานของรัฐ หรือโรงพยาบาลมาก่อนเลย ดังนั้นการที่จู่ๆตัวเองต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่างแดนจึงเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย

หนึ่งวันก่อนมีอาการป่วย ยังไปทำงานตามปกติ 
อาการป่วยเริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม ซึ่งตอนเช้าก็ยังไปทำงานตามปกติ แต่จู่ๆก็รู้สึกหนาวสั่น มีอาการไข้ขึ้นสูง วัดได้ 38 องศา จึงลางานกลับมาพักที่บ้าน วัดไข้อย่างต่อเนื่อง แต่อุณหภูมิก็ยังสูง บางครั้งสูงถึง 39 องศา ในวันต่อมาจึงลางานเพื่อพักดูอาการอีกหนึ่งวัน แต่ในวันนี้เริ่มเจ็บบริเวณท้องน้อยและรอบๆสะดือ ลามไปถึงด้านหลัง นั่งหลังตรงไม่ได้เลย สิ่งแรกที่สงสัยคือ น่าจะเป็นอาการของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเคยเป็นมาก่อน ในวันเสาร์ที่ 3 มีนาคมจึงไปหาหมอคลินิคเอกชนที่เป็นสวัสดิการของที่ทำงาน ผลตรวจเลือดและปัสสาวะ บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นการติดเชื้อบริเวณไต ซึ่งหมอแนะให้เข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลดีกว่า เพราะจะได้รับยาได้ทันท่วงที จึงทำใบส่งตัวเข้ารักษาที่ร.พ.ของรัฐที่ใกล้ที่สุด ซึ่งต้องขับรถนานกว่าครึ่งชั่วโมง

เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ทำการตรวจเลือดและปัสสาวะซ้ำอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังขอตรวจเชื้อ influenssa พร้อมด้วยเอ็กซเรย์ปอดด้วยเพราะอาการของเราคล้ายคลึงกับอาการของคนไข้ที่ติดเชื้อนี้ คือเจ็บบริเวณท้องและมีไข้สูง เมื่อผลตรวจออกมาไม่พบสิ่งผิดปกติ และไม่เข้าข่ายอาการของโรคไตอย่างที่หมอคนแรกวินิจฉัย แพทย์ตรวจเช็คบริเวณช่องท้องก็ไม่พบความผิดปกติของอวัยวะบริเวณนี้ เช่น ไส้ติ่งไม่เจ็บแสดงว่าไม่อักเสบ เป็นต้น ลำดับท้ายสุดคือได้รับการส่งตัวไปตรวจกับสูตินรีแพทย์ ซึ่งทำการตรวจภายในและตรวจอัลตร้าซาวน์ในช่องคลอด จึงพบว่ามีการติดเชื้อบริเวณปีกมดลูก และพบฝีในรังไข่ข้างหนึ่ง นอกจากนี้ยังเช็คได้ว่าห่วงคุมกำเนิดที่เราใส่มาหลายปีนั้นเคลื่อนตำแหน่งจนเกือบหลุดออกมานอกมดลูก แพทย์จึงทำการถอดห่วงออก และวางแผนรักษาอาการติดเชื้อนี้โดยต้องรับยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด และ/หรือผ่าตัดหากมีความจำเป็น

เตียงที่ต้องนอนรักษาตัว พร้อมทั้งเสื้อ กางเกง ชั้นใน ถุงเท้า เสื้อคลุมยาว
และรองเท้าแตะ ที่พยาบาลนำมาให้เปลี่ยน
 เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงต้องเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยในโดยไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ สิ่งที่ติดตัวมาด้วยในกระเป๋าสะพายมีเพียงโทรศัพท์ ผ้าเช็ดหน้า ลิปมัน หนังสืออ่านหนึ่งเล่ม และปากกาหนึ่งด้ามเท่านั้น ขณะนั้นเป็นเวลาห้าโมงเย็นแล้ว สามีที่ขับรถมาส่งและมานั่งรอตรวจเป็นเพื่อนด้วยทั้งวันนั้นก็ต้องกลับบ้าน เพราะไม่อนุญาตให้ญาตินอนเฝ้าไข้ พยาบาลนำชุดคนไข้มาให้เปลี่ยน พร้อมทั้งเจาะเข็มต่อกับเส้นเลือดเพื่อให้ยาปฎิชีวนะทันที ได้ทานอาหารเย็นประมาณเกือบหกโมงเย็น จากนั้นจึงพยายามนอนพักเพียงลำพังในห้องพักผู้ป่วยที่มีสองเตียง เที่ยงคืนได้รับยาปฏิชีวนะครั้งที่สอง และครั้งที่สามในเวลาตีสี่
รับยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด
เช้าวันต่อมา ( อาทิตย์ที่ 4 มีนาคม ) มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ขับถ่ายอย่างเจ็บปวดจนถึงขนาดที่ต้องกดสัญญาณเรียกพยาบาลเพื่อขอยาแก้ปวดในขณะที่ยังนั่งอยู่ในห้องน้ำ พยาบาลฉีดยาแก้ปวดให้ทางเส้นเลือด และรอจนเราอาการทุเลา จึงช่วยประคองไปยังเตียงผู้ป่วย วันนั้นไม่มีความรู้สึกใดๆเลยนอกจากความเจ็บปวด จากบริเวณหน้าท้องลามขึ้นมาใต้หน้าอก ทานอาหารแทบไม่ไหว มีอาการคลื่นเหียน อยากอาเจียนอยู่เกือบตลอดเวลา และก็ขยับตัวลำบาก แต่ก็ยังได้รับยาปฏิชีวนะตามปกติ แพทย์สูติฯเข้ามาเช็คอาการแล้วจึงแนะว่าเราควรจะได้รับการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด หากคิวผ่าตัดไม่ยาว เราจะเข้ารับการผ่าตัดภายในวันนั้นเลย แล้วจึงสั่งงดอาหารและน้ำ แต่ยังได้รับน้ำเกลือและยาแก้ปวดอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งประมาณบ่ายสามโมง หมอแจ้งให้ทราบว่าได้คิวผ่าตัดเวลาหกโมงเย็น และในเวลาเดียวกันหมอก็คุยทำความเข้าใจกับเราและสามีที่มาเยี่ยมในตอนนั้นว่าจะ เป็นการผ่าตัดส่องกล้อง (laparoscopy) คือ การใช้กล้องส่องเข้าไปดูอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เพื่อวินิจฉัยและทำการผ่าตัด โดยมีแผลเล็กๆ 2-3 แผล ขนาด 0.5-1.0 เซนติเมตร และเราได้ยินยอมให้แพทย์ตัดหรือกำจัดอวัยวะที่เสียหายออกจากร่างกาย ตามความจำเป็นและเห็นสมควรของแพทย์

จากนั้นพยาบาลได้นำเสื้อสำหรับคนไข้ใส่ในห้องผ่าตัดมาให้เปลี่ยน พร้อมกับทำความสะอาดบริเวณสะดือที่จะถูกเจาะเพื่อสอดกล้องในระหว่างการผ่าตัด และในช่วงที่รอรับการผ่าตัด เราก็ยังได้รับยาปฏิชีวนะตามปกติ ซึ่งทำให้เรารู้สึกคลื่นเหียนและอาเจียนก่อนเข้าห้องผ่าตัดเพียงครึ่งชั่วโมง
เวลาหกโมงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561 เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ต้องเข้าห้องผ่าตัด ในใจตอนนั้นมั่นใจในฝีมือแพทย์และเจ้าหน้าที่ของที่นี่มากจนไม่กลัว ไม่กังวลอะไรเลย เพียงรู้สึกตื่นเต้นนิดหน่อยเพราะเป็นครั้งแรก พยาบาลเข็นเตียงเราออกมาจากห้องพักลงลิฟท์มายังชั้นใต้ดินที่เป็นห้องผ่าตัด ในนั้นมีพยาบาลจำนวนหนึ่งสวมเครื่องแบบผ่าตัดรออยู่แล้ว มีการซักถามอาการ ซักไซ้ประวัติการรักษาของเรา ก่อนที่จะบอกให้เราถอดกางเกงและขึ้นไปนอนบนเตียงขาหยั่ง ลักษณะเหมือนเตียงในห้องตรวจภายใน เมื่อนอนลง พยาบาลนำผ้าห่มมาคลุมให้ตั้งแต่อกถึงต้นขา จากนั้นทำการรัดสายรอบเท้าให้ติดกับขาหยั่ง และรัดข้อมือติดกับเตียง พร้อมทั้งติดเครื่องมือวัดความดัน และเครื่องมือวัดชีพจรบนแขนและนิ้วมือข้างซ้าย ส่วนแขนข้างขวานั้น วิสัญญีแพทย์ต่อท่อยาสลบเข้ากับเข็มที่เจาะเข้าในเส้นเลือดอันเดียวกับที่ใช้รับยาปฏิชีวนะนั่นเอง เมื่อเตรียมคนไข้พร้อมแล้ว พยาบาลก็นำหน้ากากอ็อกซิเจนมาอังเหนือจมูกของเราพร้อมกับสั่งให้หายใจเข้าลึกๆ จำได้ว่าเราหายใจเข้าไปเพียงสี่ครั้งแล้วหลังจากนั้นก็ไม่รู้สึกตัวอีกเลย
เมื่อรู้สึกตื่นขึ้นมาอีกครั้งนั้น ได้ยินเหมือนใครกำลังเรียกชื่อเราและอธิบายอะไรบางอย่าง แต่เพราะรู้สึกง่วงมากจึงฟังไม่ได้ศัพท์ ทำได้เพียงพยักหน้าอย่างสลึมสลือ จากนั้นรู้สึกได้ว่าเตียงถูกเข็นกลับมายังห้องพัก เหลือบมองนาฬิกาบนผนังที่ตอนนั้นบอกเวลา 21.50 น. แล้วก็หลับไปอีกที จากนั้นก็หลับๆตื่นๆเมื่อพยาบาลเข้ามาดูแล พาเข้าห้องน้ำ ให้ดื่มน้ำผลไม้ และให้ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะและน้ำเกลือ

ในรุ่งเช้าของวันต่อมา (จันทร์ ที่ 5 มีนาคม) เรายังรู้สึกอ่อนเพลีย และมีลมในช่องท้องตลอดเวลา ไม่อยากดื่มน้ำหรือทานอาหารเลย พยาบาลจึงให้เลือดและน้ำเกลือผสมกลูโคสทางเส้นเลือดแกเรา แอบถลกเสื้อดูแผลผ่าตัด มีอยู่ทั้งหมดสามแผล แผลที่รู้สึกเจ็บมากที่สุดคือแผลที่ผ่าเหนือสะดือ เพราะอยู่กลางลำตัวพอดี ทำให้เอนตัวลุกนั่งหรือนอนลำบากกว่าแผลอื่น ช่วงสายๆแพทย์ที่ทำการผ่าตัดเข้ามาเช็คดูแผลและสรุปรายงานการผ่าตัดให้รู้สั้นๆว่า


แพทย์ส่องกล้องแล้วพบการอักเสบขยายวงครอบคลุมอวัยวะในอุ้งเชิงกราน รวมถึงส่วนหนึ่งของตับก็ติดเชื้อด้วย ส่วนอวัยวะที่ติดเชื้อรุนแรงที่สุดคือ ท่อนำไข่ทั้งสองข้าง แพทย์ต้องตัดและกำจัดออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังพบฝีบนรังไข่ข้างหนึ่ง หมอจึงตัดฝีให้ จากนั้นจึงทำการล้างฆ่าเชื้ออวัยวะบริเวณนี้ ผลจากการตัดท่อนำไข่สองข้าง คือเราจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้โดยธรรมชาติ คือสเปิร์มที่เดินทางผ่านเข้ามาในมดลูกจะไม่สามารถเข้าผสมกับไข่ที่ออกมาจากรังไข่ เพราะเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างรังไข่กับมดลูกนั้นถูกตัดขาด หากต้องการตั้งครรภ์ มีวิธีเดียวเท่านั้นคือ ทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilisation หรือ IVF) ซึ่งทั้งเราและสามีก็ได้เตรียมใจเอาไว้แล้วก่อนผ่าตัด ว่าหากมีวิธีใดที่จำเป็นที่ต้องรักษาอาการป่วยของเรา แพทย์สามารถวินิจฉัยและตัดสินใจได้เต็มที่ โชคดีที่การผ่าตัดนำท่อนำไข่ออกไปนั้นไม่มีผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนเพศแต่อย่างใด เพราะรังไข่ทั้งสองยังอยู่ครบถ้วนและยังผลิตฮอร์โมนได้ตามปกติ

วันนั้นทั้งวันเวลาผ่านไปอย่างช้าๆ นอนหลับๆตื่นๆเกือบจนกระทั่งเวลาบ่ายสามโมงเราจึงมีอาการดีขึ้นมาก  สามารถลุกขึ้นนั่งทานอาหารเองได้เองในตอนเย็นวันนั้นเอง พอดีกับที่มีผู้ป่วยรายใหม่วัยเกษียณเข้ามานอนบนเตียงอีกเตียงที่ว่างอยู่ในห้องเดียวกัน ได้สนทนากันบ้างจึงรู้สึกอุ่นใจที่มีเพื่อนคุยแก้เหงา ก่อนนอนพยาบาลเข้ามาแกะเทปปิดแผลออก แล้วอนุญาตให้เราอาบน้ำสระผมได้ โดยกำกับไม่ให้ถูสบู่ไปโดนแผล ห้ามล้วงหรือเกาแผลผ่าตัด การอาบน้ำครั้งแรกด้วยตัวเองหลังผ่าตัด แม้จะทุลักทุเล แต่ก็เป็นไปด้วยดี หลังจากเข้านอนเราก็ได้รับยาปฏิชีวนะตามปกติ แต่จำได้ว่าในตอนกลางคืนเรารู้สึกเวียนหัวและมวลท้องมากจนอาเจียนออกมา พยาบาลต้องฉีดยาแก้เมาให้เรา

ต้องล้างมือจนมือแห้งเปื่อยเลยเชียว
วันอังคารที่ 6 มีนาคม เราตื่นขึ้นมาเพราะปวดท้องหนัก จึงลุกเข้าห้องน้ำและถ่ายออกมาเป็นของเหลว แต่จากนั้นไม่นานก็รู้สึกปวดท้องอีกครั้งและถ่ายออกมาเหมือนเดิม เป็นอย่างนี้ทุกครึ่งชั่วโมง ไม่ว่าจะทานหรือดื่มอะไรเข้าไปก็ถ่ายออกมาเป็นของเหลว หมอแวะมาดูอาการแล้วขอนำตัวอย่างไปตรวจ ในระหว่างนี้เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่กระจายของเชื่อโรคที่อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสีย พยาบาลจึงย้ายเพื่อนที่เป็นผู้ป่วยรายใหม่ไปยังห้องอื่นและติดป้าย 'erityshuone' คือคล้ายๆกับห้องควบคุมเชื้อโรค คือห้ามเราออกจากห้อง และทุกครั้งที่พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่มีกิจเข้ามาในห้องนี้ จะต้องสวมผ้าปิดจมูกและเสื้อคลุมแบบใช้แล้วทิ้ง และสั่งให้เราล้างมือแล้วตามด้วยเจลฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ ตอนนั้นเองเรารู้สึกเบื่อและเหงามากๆเลย  ตัวเองนั้นรู้สึกแข็งแรงกว่าเมื่อวานมาก จึงอยากลองออกไปเดินเล่นนอกห้อง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากเพราะยังมีอาการท้องเสียและยังถูกสั่งห้ามออกนอกห้อง ทำได้เพียงนอนดูทีวี และอ่านหนังสือฆ่าเวลา กว่าอาการท้องเสียจะทุเลาก็ล่วงเลยไปเป็นเวลาเย็นมากแล้ว คืนนี้จึงนอนหลับสนิทกว่าคืนก่อนเพราะน่าจะเพลียจากอาการท้องเสียมาทั้งวัน


ยาชนิดใหม่ที่ทำให้ง่วงหงาวกว่าเดิม
วันพุธที่ 7 มีนาคม ตื่นตามปกติ ขับถ่ายอย่างปกติ และเจ้าหน้าที่แล็บมาเจาะเลือดไปตรวจเหมือนเช่นทุกวัน ซึ่งทุกคนก็ยังสวมผ้าปิดจมูกและเสื้อคลุมเหมือนเมื่อวาน เราจึงแจ้งพยาบาลว่า อาการท้องเสียของเราดีขึ้นแล้ว แต่พยาบาลยืนยันว่าต้องรอผลตรวจจากตัวอย่างที่ได้นำไปส่งตรวจเมื่อวาน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อโรคที่สามารถติดต่อใครได้ เราจึงถูกขังเดี่ยวต่อไป จนกระทั่งประมาณบ่ายสามโมง ผลออกมาเป็นลบ ไม่มีเชื้ออันตรายใดๆ ทุกอย่างจึงกลับสู่สภาพเดิม เราเริ่มเหงามากและรอวันที่หมอจะอนุญาตให้กลับบ้าน แต่เพราะผลแล็บค่า P-CRP ที่ตรวจจากเลือดทุกเช้า เพื่อวัดระดับการติดเชื้อหรืออักเสบในร่างกาย ยังไม่มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ เราจึงยังต้องรับยาปฏิชีวนะต่อไป
ค่า P-CRP ของแต่ละวันมีดังนี้
อาทิตย์ที่ 4 มีนาคม = 117 mg/l (ก่อนเข้ารับการผ่าตัด)
จันทร์ที่ 5 มีนาคม = 204 mg/l (หลังผ่าตัด)
อังคารที่ 6 มีนาคม = 171 mg/l (ก่อนมีอาการท้องเสีย)
พุธที่ 7 มีนาคม = 178 mg/l (หลังอาการท้องเสีย)

ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม เรารู้สึกดีขึ้นมาก สามารถเดินเล่นช้าๆนอกห้องเป็นระยะทางใกล้ๆ และยกถาดอาหารไปเก็บนอกห้องได้ ส่วนผล P-CRP ก็ลดต่ำลงมากคือ เท่ากับ 108 mg/l ในวันนี้ แต่ก็ยังสูงมาก (พยาบาลกระซิบว่า หมอจะพิจารณาให้เปลี่ยนจากการรับยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดเป็นการทานยาปฏิชีวนะแบบเม็ดและปล่อยให้กลับบ้าน หากค่านี้ต่ำกว่า 70 mg/l คือยังมีการอักเสบอ่อนๆแต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดเวลา) วันนี้หมอจึงเปลี่ยนยาปฏิชีวนะที่แรงขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ระดับการอักเสบลดลง แต่ยาชนิดใหม่นี้กลับทำให้เราง่วงซึมมาก วันนี้ก็เป็นอีกวันที่ได้รับอนุญาตให้อาบน้ำและเข้านอนทันทีเพราะง่วงมากเป็นพิเศษ
ยาแก้ปวดที่พยาบาลให้มาประจำคือ Ibuprofen 600mg และ Paracetamol 1g

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม ตื่นขึ้นมาด้วยความกระชุ่มกระชวย ไม่เจ็บแผลเลย จึงไม่ทานยาแก้ปวดอีกเลย นั่งนอนและลุกเดินได้โดยไม่มีความเจ็บปวด รู้สึกดีมาก และมั่นใจมากว่าวันนี้จะได้กลับบ้านซะที เช้าตรู่เจ้าหน้าที่แล็บมาเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจตามปกติ อาหารเช้าก็ทานตามปกติและรับยาปฏิชีวนะตามปกติในตอนเช้า ในเวลาสายหมอก็เข้ามาแจ้งข่าวดีว่า ค่า P-CRP ของวันนี้ลดลงเหลือแค่ 57 mg/l เราแทบจะร้องออกมาด้วยความดีใจ จากนั้นหมอแจงว่าให้อนุญาตกลับบ้านได้ และเราต้องทานยาปฏิชีวนะสองชนิดต่ออีกสิบวัน วันละหกเม็ด หมอไม่กำหนดให้มีการตรวจติดตามผล เพียงแต่หากมีอาการแทรกซ้อนใดๆ ต้องรีบติดต่อและกลับมารักษาอีกครั้ง จากนั้นจึงให้พยาบาลนำใบสั่งยา ใบรับรองแพทย์เพื่อประกอบการลาพักงานอีกหนึ่งอาทิตย์ (ระบุชื่อโรค คือ Salpingitis หรือท่อนำไข่อักเสบ) รายงานการผ่าตัดที่เราเคยขอเก็บไว้อ่าน รวมทั้งข้อแนะนำการดูแลตัวเองของคนไข้หลังผ่าตัด ส่วนบิลค่ารักษาพยาบาลนั้น ทางโรงพยาบาลจะส่งให้ทางไปรณีย์ เราก็สามารถชำระโดยการโอนเงินผ่านบัญชีออนไลน์ตามปกติ
หน้าตาของแผลผ่าตัดสิบวันหลังจากการผ่าตัด
จากนั้นพยาบาลจึงถอดเข็มออกจากเส้นเลือดของเรา แล้วอนุญาตให้เปลี่ยนเสื้อผ้า และเก็บของเพื่อเตรียมตัวกลับบ้าน ตอนนั้นดีใจมาก รีบโทร.เรียกพ่อบ้านให้มารับที่โรงพยาบาล หลังจากนั้นก็เตรียมตัวอย่างรวดเร็วและเดินออกจากห้องพักจากมาด้วยรอยยิ้ม มั่นใจว่าอีกหนึ่งอาทิตย์ข้างหน้าเราจะหายเป็นปกติ แม้ว่าช่วงแรกๆยังต้องลุกเดินอย่างช้าๆ เพราะยังมีอาการหน่วงบริเวณท้องน้อยและรอบๆแผลผ่าตัด แต่เชื่อว่าร่างกายของเราสามารถฟื้นตัวได้เร็วเพราะเรามีกำลังใจดี ทั้งจากสามีและลูกชายที่คอยดูแล ครอบครัวสามี และคุณแม่ที่โทร.มาให้กำลังใจทุกวัน รวมถึงน้องๆและเพื่อนๆที่รู้ข่าวแล้วมาเยี่ยมถึงโรงพยาบาลและทุกๆคนที่ส่งข้อความฝากมาให้

 การป่วยแบบเฉียบพลันครั้งนี้สอนให้เรารู้ว่า ในโลกนี้ไม่มีความแน่นอน วันหนึ่งเรายังแข็งแรง แต่อีกวันอาจเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงอย่าเสียเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องดีกว่า เราควรใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้ม อะไรที่ทำแล้วมีความสุขก็ทำไปเถอะ อยากกินอะไรก็กินไปเถอะ แต่จงอย่าใช้ชีวิตด้วยความประมาท เพราะบางสิ่งบางอย่างนั้นเมื่อสูญเสียไปแล้ว ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ เช่นในกรณีของเราคือ การที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติอีกต่อไป เพราะท่อนำไข่ถูกตัดและกำจัดออกจากร่างกายเสียแล้ว ที่คิดว่าประมาท เพราะเราน่าจะเอะใจและตรวจภายในตั้งแต่ครั้งแรกที่มีอาการเจ็บท้องน้อยแบบกระปริดกระปรอย หลังจากที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หากเชื่อสัญชาตญาณของตัวเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน หรือหากหมั่นตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ บางทีความเจ็บป่วยอาจไม่ลุกลามใหญ่โตจนถึงขั้นผ่าตัดและพักฟื้นนานถึงสองอาทิตย์ และนี่ก็เป็นบทเรียนที่เราได้รับในครั้งนี้เอง

ติดตามอ่านเรื่องราวต่อไปใน ช่วงพักฟื้น ยา และค่ารักษาพยาบาล

รูปส่วนหนึ่งของอาหารที่โรงพยาบาลจัดให้ วันละสี่มื้อ เวลาแปดโมงเช้า สิบเอ็ดโมง
สี่โมงเย็น และทุ่มครึ่ง(อาหารว่าง)



สภาพภายในห้องพักผู้ป่วย พยาบาลได้นำเตียงที่ว่างย้ายออกไปแล้ว ห้องนี้จึงมีเราพักอยู่เพียงลำพัง
 
เตียงที่นอนพักรักษาตัวมาเกือบครบอาทิตย์


ห้องน้ำและตู้เก็บของสำหรับผู้ป่วย





วันอังคาร, มีนาคม 13, 2561

♫ ร้องรำทำเพลง: Don't Know Why / Norah Jones

ไม่เคยคิดว่าจากการร้องเพลงเล่นๆในตู้เสื้อผ้าแล้วอัดเสียงด้วยมือถือ จะพัฒนาจนมาถึงขั้นที่ต้องขวนขวายหา video editing application เพื่อตัดและแต่งก่อนโพสลงโซเชียลมีเดีย 
มือใหม่ขอเริ่มจาก app แบบไม่ต้องเสียเงินก่อนนะ
อาจมีโลโก้เกะกะลูกกะตานิดหนึ่ง แต่ไม่เป็นไรเนอะ 
แม้วันนี้จะยังไม่มีแฟนคลับ แต่ก็ขอบคุณทุกคนที่คลิ้กฟังนะคะ

 

Song: Don't Know Why
Artist: Norah Jones
Backtracking: https://youtu.be/BCxL010qj6g byTakashi Terada