วันพุธ, มิถุนายน 08, 2554

สำนวน : ใจ ♥ (2)

คนที่นำคำว่า “ใจ” มาใช้ มักจะวนเวียนอยู่กับการพูดถึงความรัก

ใครเป็นคนใจเดียวก็พูดว่า single-hearted ต่างจากคำว่า single-minded ซึ่งแปลว่า ใจจดใจจ่ออยู่กับสิ่งเดียว บางทีก็พูดว่า singleness of purpose หรือมีจุดมุ่งหมายแต่ประการเดียวโดยแท้ ใครที่มีความรักก็มักมีอาการที่ไม่สนใจสิ่งใดอื่นยกเว้นคนรักของตน เมื่อตกหลุมรักใครเข้าชนิดถอนตัวไม่ขึ้นจะพูดว่า

I love you with all my heart. = ผมรักคุณหมดหัวใจ

ส่วนคนที่อกหักด้วยความปวดร้าวหรือที่เรียกว่า broken heart นั้น มีภาษิตเปอร์เซียกว่าหลายพันขวบปีมาแล้วว่า

A broken hand works, but not a broken heart. = มือที่หักยังพอทำอะไรได้ ไม่เหมือนกับหัวใจที่แตกสลาย

ตรงนี้ถือเป็นอีกมุมหนึ่งของจิตใจที่ต้องเผชิญความเจ็บปวด

กวีฝรั่งอีกคนหนึ่งรจนาไว้ช้านานแล้วว่า

Affection is a coal that must be cooled; else suffered, it will set the heart on fire.

ความรักเสมือนถ่านไฟที่ต้องบันดาลให้เย็นลง ถ้าปล่อยปั่นป่วนก็จักทำให้หัวใจไหม้คุโชน

คงคล้ายๆกับกาพย์ไทยที่ว่า ความรักเหมือนโคถึก ผิวะคึกและขังไว้ ก็ย่อมโลดเตลิดไป บ่ยอมอยู่ ณ คอกขัง

กวีฝรั่งชอบเขียน ballad หรือ sonnet ถึงคนรักของตนแบบเดียวกับที่กวีไทยเขียนเพลงยาว และนิราศ กวีแบบ sonnet มี 14 บรรทัด แต่ละบรรทัดมี 10 พยางค์ตลอดจนมีแบบสัมผัสที่มีลักษณะแน่นอน คนเขียนกลอนแบบนี้เรียกกันว่า sonneteer

บทกวี sonnet ที่โด่งดัง่อนข้างมากและเด็กนักเรียนฝรั่ง (ตลอดจนนักเรียนไทยที่พ่อแม่ส่งไปเรียนอังกฤษ) ต้องถูกบังคับให้ท่องจำจนเข็ดฟันก็คือ

How do I love thee?
Let me count the Ways, I love thee to the height, breadth, and depth of my Love.

ฉันรักเธอเช่นใดนั้น ฉันใคร่จะรอนับทิศทางต่างๆ
ฉันรักเธอสุดความกว้าง ความสูงและความลึกแห่งรักของฉัน

อย่างไรก็ตาม คนที่มีใจรักและต่อมาอาจมีใจเกลียดเพราะเกิดเปลี่ยนใจ วันหนึ่งรัก อีกวันเกลียด ฝรั่งพูดว่า ฝรั่งพูดว่า She is capricious. แปลว่าเปลี่ยนใจไปตามอารมณ์อยู่เสมอๆ เทียบได้กับคำไทยว่า “เป็นลมๆ”นั่นเอง ใครที่หลงรักคนเปลี่ยนใจเก่ง ก็อาจจะ heavy-hearted ที่แปลว่า เศร้าหมอง นั่นเอง

เช่นเดียวกับคำว่า small-minded เห็นมีผู้แปลออกมาว่า ใจน้อย (แบบคนหัวล้าน) ที่จริงหมายถึง ใจคับแคบมากกว่า อีกคำหนึ่งเห็นเข้าใจผิดกันบ่อยคือ คำว่า faint-hearted ไม่ได้แปลว่า เป็นลมเป็นแล้ง แต่หมายถึง ใจไม่สู้ อย่างที่ภาษิตฝรั่งบอกว่า

Faint heart never wins fair lady. = ใจไม่สู้ก็ไม่ได้ครองหญิงงาม

อนึ่ง ศัพท์ภาษาไทยที่ใช้กว้างขวางเมื่อพูดถึงลางหรือสิ่งบอกล่วงหน้าคือ สังหรณ์ใจ ถือว่าอยู่นอกกฎเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ แต่มนุษย์ก็มีความเชื่อมั่นจนใช้เป็นคำพูดติดปาก

ศัพท์ฝรั่งที่เกี่ยวกับสังหรณ์ใจคือ misgiving ถ้าใช้เป็นคำกริยาก็ว่า to misgive

My heart misgives me. = ฉันรู้สึกสังหรณ์ใจชอบกล

บางทีพูดว่า A heart mind full of misgivings แปลว่า จิตใจที่มีแต่ลางสังหรณ์ล้วนๆ เช่น ลางสังหรณ์ว่าจะมีรัฐประหาร มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการเลือกตั้ง

เมื่อจิตใจสังหรณ์ได้ถูกต้องราวกับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนจึงเชื่อลางสังหรณ์อยู่ไม่น้อย นักเขียนแขกคนหนึ่งบ่นไว้ว่า

The heart is half a prophet. = ใจมนุษย์เป็นถึงกึ่งหนึ่งของศาสดาพยากรณ์นั้นแล

คำว่า ใจ มักใช้เกี่ยวพันกับร่างกายโดยถือเป็นของคู่กัน ภาษิตฝรั่งบอกว่า Sound mind in sound body หรือ จิตใจที่ดีอยู่ที่ร่างกายที่อนามัยดี บางแห่งมีระบบ 3S ย่อมาจาก Sound Mind, Sound Body และ Sound Speech (วาจาดี)

สำนวนอื่นๆเกี่ยวกับใจและมักเข้าใจกันผิดพลาดในเชิงภาษายังมีอีกมาก เช่น

heart-breaking task =งานที่น่าระอาใจ (ไม่ใช่งานอกหัก)

chicken-hearted = ใจเสาะ (ไม่ใช่ใจไก่ คล้ายสำนวนไทยที่ว่า “ใจปลาซิว”)

heart-sore = น้อยใจ, ระทมใจ (ไม่ใช่เจ็บใจ)

out of heart = ใจคอห่อเหี่ยว

have one’s heart in the right place = มีใจเผื่อแผ่

จึงพอจะเห็นได้ว่า สำนวนเหล่านี้ต้องอาศัยความเคยชินเป็นหลัก เดาเอาเองก็อาจเพี้ยนจากความหมายที่แท้จริงไปบ้าง เช่นเมื่อพูดว่า

Your hand is strong in hearts. หมายถึง ไพ่ในมือคุณมีโพแดงดี

She is a woman of some heart. หมายถึง เจ้าหล่อนเป็นหญิงใจกล้าน่าดู
เป็นต้น

เรื่องของ heart ดูจะมีอีกมากและเป็นเรื่องน่าปวดเศียรเวียนเกล้าเห็นทีจะต้องพักไว้แค่นี้ก่อน เขียนมาถึงตอนนี้ก็เริ่มรู้สึกเสียแล้วว่า Head and heart often disagree (หัวคิดไม่ตรงกับใจ)


ขอบคุณที่มา จากหนังสือ "สนุกภาษาฝรั่งกับประเดิม" เขียนโดย คุณนพพร สุวรรณพานิช พิมพ์ปีพ.ศ. 2541

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น