วันศุกร์, มกราคม 24, 2557

บทความการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ และประสบการณ์ที่คุณแม่อยากเล่า

บทความข่างล่างนี้จำไม่ได้ว่าใครเขียน แล้วเขียนไว้ตั้งแต่ปีไหนแล้ว แต่ชอบมากเพราะเขียนได้ถูกต้องตามความเป็นจริงเลย! ดูจากลูกชายซึ่งกำลังเรียนเกรดสอง(ป.สอง)ที่นี่ สังเกตเห็นว่ามีชั่วโมงเรียนแค่ช่วงเช้า ทานอาหารกลาง
วันที่โรงเรียนประมาณสิบเอ็ดโมง และเรียนต่อจนถึงเวลาไม่เกินบ่ายสองโมงก็สามารถกลับบ้าน หรืออาจเลือกทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนต่อได้ การบ้านก็ไม่ได้มีทุกวัน ค่าเรียน ค่าอาหารกลางวันหรือค่าหนังสือก็ไม่มี แต่หากลูกทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนที่โรงเรียน (หรือพูดง่ายๆว่าฝากเลี้ยงหลังเลิกเรียน เพราะผู้ปกครองยังไม่กลับถึงบ้าน) ก็จะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพื่อจ้างครูพี่เลี้ยงดูแลเด็ก รวมของว่างที่โรงเรียนก่อนกลับบ้านไม่เกินสี่โมงครึ่ง

ส่วนภาระการรับ-ส่งเด็กไปโรงเรียนนั้นไม่ได้อยู่กับผู้ปกครองแต่ฝ่ายเดียว เด็กที่ขึ้นชั้นเกรดหนึ่ง(หรือระดับป.หนึ่งของบ้านเรา)ก็สามารถเดินไป-กลับโรงเรียนเองได้แล้ว โดยทางโรงเรียนให้ความรู้แก่เด็กๆเกี่ยวกับกฎการเดินทางบนท้องถนน และช่วงวันเปิดเทอมก็จะมีอาสาสมัครคอยดูแลความปลอดภัยแก่เด็กๆขณะเดินทางไป-กลับโรงเรียน และถ้าเด็กโตขึ้นอีกหน่อยประมาณเกรดสามจะได้รับอนุญาตให้ปั่นจักรยานไปโรงเรียนได้ แต่หากบ้านอยู่ค่อนข้างไกลจากโรงเรียน(ไม่ต่ำกว่าหนึ่งกิโลเมตร)ผู้ปกครองก็สามารถยื่นขอใช้บริการรถรับส่งนักเรียนที่ทางจังหวัดจัดหาให้โรงเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ปกครองจึงไม่จำเป็นต้องขับรถรับส่งเด็กเอง


รถรับส่งนักเรียนนี้จะมีหน้าตาคล้ายรถตู้คันเล็ก และจะจอดรับและส่งเด็กที่ป้ายจอด"school bus" ริมถนนที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดตามเวลาที่กำหนดไว้ เช่นทุกวันเวลาเจ็ดโมงจะไปรับเด็กชายมิกโกะที่ป้ายจอดใกล้บ้านของมิกโกะ หลังจากนั้นขับไปอีกสิบนาทีจึงจะถึงป้ายจอดใกล้บ้านของเด็กชายไทเลอร์ ดังนั้นไทเลอร์ก็จะต้องมายืนรอก่อนเวลาเจ็ดโมงสิบนาทีเพราะรถมาค่อนข้างตรงเวลาและจะจอดรอเด็กแต่ละป้ายได้แค่สิบนาที และหากเด็กต้องขาดเรียนผู้ปกครองต้องแจ้งให้ทั้งครูประจำชั้นและคนขับรถรับส่งทราบทันที 


นอกจากประสิทธิภาพด้านการเรียนการสอนแล้ว ผู้ปกครองและคณะผู้สอนยังสามารถติดต่อมีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างเป็นกิจวัตรโดยใช้โปรแกรมออนไลน์ที่ชื่อว่า Helmi, Wilma, Kivahko และ Oiva โดยใช้เสมือนเป็นสมุดบันทึกประจำวัน ที่ผู้ปกครองจะได้รับข่าวสารจากคุณครู หรือคณะผู้บริหารโรงเรียน และยังสามารถเขียนโต้ตอบกันได้เป็นการส่วนตัว นอกจากนี้หากเด็กจำเป็นที่จะต้องขาดเรียน ผู้ปกครองก็สามารถแจ้งให้ครูประจำชั้้นทราบผ่านทางโปรแกรมนี้หากไม่สะดวกส่งข้อความทางโทรศัพท์ หรือหากสงสัยว่าเด็กขาดเรียนวันไหน เป็นจำนวนกี่วัน ผู้ปกครองก็สามารถเช็คย้อนหลังได้ และยังสามารถส่งข้อความเพื่อติดต่อสอบถาม หรือปรึกษาปัญหาสุขภาพของเด็กกับพยาบาลประจำโรงเรียนได้อีกด้วย สะดวก รวดเร็วและใช้ง่ายมาก (เพราะคุณแม่เข้าไปเช็คข้อความอยู่ทุ้กวัน)


สิ่งที่เล่ามาเป็นนับเป็นตัวอย่างเล็กน้อยที่คุณแม่และคุณลูกได้รับจากประสบการณ์ตรงจากสถาบันการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ จุดประสงค์ไม่ได้ต้องการยกยอระบบการศึกษาของประเทศนี้ว่าดีที่สุด แต่ต้องการแชร์ตัวอย่างที่ดีที่ประเทศของเราอาจนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของเราให้ดีขึ้นแน่นอนว่าระบบของเค้ามีกระบวนการพัฒนามายาวนาน กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ จึงอยากให้ประเทศของเราเริ่มต้นพัฒนากันตั้งแต่วันนี้ และหวังว่าสักวันหนึ่งระบบการศึกษาไทยจะได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพทันโลกได้สักที...

การศึกษาในประเทศฟินแลนด์ไม่ได้มีนโยบายเป็นร้อยๆข้อเหมือนบ้านเรา แต่ใช้แค่กลไกหลักๆแค่ 3 ข้อเท่านั้นในการตอกเสาเข็มให้ระบบการศึกษาของเขาทั้ง 3 ข้อที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเกินความเข้าใจของเราเลย คือต้องมีกลยุทธ์ให้ครบทุกระยะ กับเน้นให้ทุกแผนงานต้องตอบสนองกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และข้อสุดท้ายคือการเริ่มต้นกับคนที่มีบทบาทกับการศึกษามากที่สุดคือ ครู

ลองมาดูในรายละเอียดของแต่ละข้อกันนะครับ เริ่มจากการกำหนดกลยุทธ์ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพื่อให้มีแผนครอบคลุมการพัฒนาการตลอดโดยไม่ยึดติดกับการเมือง หรือผู้บริหารที่มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ 

ที่สำคัญคือมุมมองต่อระบบการศึกษาที่ผู้บริหารต้องมองเห็นว่าทรัพยากรมนุษย์คือปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีที่สุด ก็คือระบบการศึกษา 
ซึ่งมุมมองเพียงแค่นี้จะทำให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาเป็นอันดับแรก
 
ข้อต่อมาคือการคิดถึงการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันเป็นหลัก เพราะฟินแลนด์นั้นมีทรัพยากรธรรมชาติจำกัดมาก ในขณะที่ประชากรก็ยังมีน้อย การหันมาทุ่มเทกับการพัฒนาคนรุ่นใหม่ จึงเป็นการลงทุนที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศได้ดีที่สุด
 
ข้อสุดท้าย ต้องเอาจริงเอาจังกับการสร้างมาตรฐานให้กับครูก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเขาเล็งเห็นถึงบทบาทของครู อาจารย์ ที่สามารถดึงในนักเรียนและนักศึกษารุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยได้ เพราะการปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ ต้องได้ครูที่มีความรู้ความเข้าใจและทุ่มเทจริงๆ
 
ผลที่เราเห็นได้ชัดในทุกวันนี้ก็คือรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างจากบ้านเรามหาศาล เพราะครูในฟินแลนด์ไม่ได้ทำหน้าที่แค่สอนตามตำรา แต่กระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองให้มากที่สุด ในห้องเรียนครูจึงไม่มีคำตอบให้ กลับมีแต่คำถามเสียเอง
 
การสอนแบบนี้ จุดประกายให้นักเรียนต้องไปหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งคำตอบที่ได้ก็ย่อมมาจากการสนใจใฝ่รู้และขวนขวายหาข้อมูลต่างๆมาเอง โดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะ และให้ข้อมูลเสริมต่างๆเพื่อให้เด็กสรุปออกมาเป็นคำตอบได้
 
ที่น่าแปลกใจก็คือแรงจูงใจในการเป็นครูของเขานั้นไม่ได้ทำแค่การเพิ่มเงินเดือนครูให้สูงๆ ให้เท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ แต่หันมาสร้างความภาคภูมิใจในวิชาชีพครูเป็นหลัก จนมีเกียรติสูงไม่แพ้นายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว
 
ฟินแลนด์ยังสร้างความมีส่วนร่วมของครูและผู้ปกครอง โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการ รวม 7 คน ทำหน้าที่กำกับดูแล และวัดผลการศึกษา โดย 1 คน เป็นตัวแทนของครู 1 คนเป็นตัวแทนของพนักงานของโรงเรียน และอีก 5 คนมาจาก Community คือผู้ปกครอง ในทุกต้นเทอมการศึกษาจะมีการประชุมเปรียบเทียบกับเป้าหมาย วัดว่าตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ 
 
จะว่าไปแล้วความเข้มข้นของระบบการศึกษาของเขานั้นเริ่มกันตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกครู ที่ต้องเลือกเฟ้นเฉพาะผู้ที่มีอุดมการณ์และมีความตั้งใจที่จะเป็นครูจริงๆเท่านั้น และยังต้องพร้อมด้วยคุณวุฒิที่สูงมาก เช่นครูระดับมัธยมปลายต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโทเท่านั้น
 
ในขณะที่บ้านเราในรอบหลายปีที่ผ่านมานั้นถือได้ว่าวิชาชีพครูถูกทอดทิ้งมาโดยตลอด 
ดูได้จากคะแนนสอบเข้าสถาบันการศึกษาในสาขาครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ เพราะมีผู้คนสนใจเรียนครูน้อยกว่าสาขาวิชาอื่นๆ หรือไม่ก็มาเรียนเพราะสอบเข้าสาขาวิชาที่ตัวเองชอบไม่ได้
 
ดูแล้วไม่น่าแปลกใจเลยที่จะพบว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ใช้งบประมาณด้านการศึกษาสูงที่สุดในโลก สำหรับเด็กนักเรียนระดับมัธยมต้นคือ 8,200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน ต่อปี และยังเป็นการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดอีกด้วย 
 
เห็นได้ชัดจากการวัดผลของ OECD ในครั้งนี้ ที่ทำให้ได้เห็นว่าเด็กของเขาเหนือกว่าเด็กๆจากทุกประเทศทั่วโลก และดูจากการคะแนนทั้งหมดของนักเรียนแล้วจะเห็นว่ามีส่วนต่างกันไม่มากนัก เพราะฟินแลนด์เน้นที่การยกระดับให้นักเรียนทั้งหมดมีมาตรฐานใกล้เคียงกันทั้งหมด
 
ตรงกันข้ามกับหลายๆประเทศที่เน้นการพัฒนาเฉพาะเด็กเก่งที่มีพื้นฐานดี แต่ฟินแลนด์กลับพยายามเน้นที่เด็กธรรมดาๆให้เรียนดีเทียบเท่าเด็กเก่งๆ โดยมี 20% ของเด็กทั่วประเทศที่เรียนช้า ต้องใส่ใจเป็นพิเศษและต้องเรียนเพิ่ม โดยรัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนทั้งหมด
 
ความเปรียบต่างของนักเรียนในเมืองกับนอกเมืองของฟินแลนด์จึงต่างกันน้อยมาก ในขณะที่บ้านเราความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้นมากเสียจนทำให้มีเด็กนักเรียนที่ถูกทอดทิ้งมากเสียจนเกินความสามารถที่รัฐจะดูแลทั่วถึง 
 
ถึงผู้เขียนจะชื่นชมฟินแลนด์เป็นพิเศษ แต่ผู้เขียนเองก็เหมือนนักธุรกิจ นักการตลาด นักบริหารและผู้อ่านบิซิเนสไทยที่รักประเทศไทยและอยากเห็นการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะการศึกษาคือพื้นฐานของสังคมและการพัฒนาประเทศชาติ ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่เรากำลังจะได้มาอีกไม่ช้านี้ ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายหลักด้านการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาของบ้านเราให้ทัดเทียมกับประเทศต่างๆ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าคงไม่เกินความฝันของเรานัก หากเราตั้งใจจริง


“Education is the most powerful weapon which you can use to change the world.” 
                                                                       - Nelson Mandela