วันอาทิตย์, กันยายน 20, 2558

Hyvin kaunis tyttö : หน้าตาสวย บุคลิกดี ยิ้มสวย หรือถูกทุกข้อ

เคยมีคนแปลกหน้าบอกคุณมั๊ยว่า "คุณเป็นคนสวยนะ" ตั้งแต่เกิดจนอายุผ่านพ้นเลขสามมาก็เพิ่งเจอกับตัวนี่แหละ แถมไม่ใช่คนบ้า หนุ่มขี้หลี เฒ่าหัวงู หรือเพื่อนช่างประจบแต่อย่างใด เธอคือสตรีวัยกลางคนที่ดูปกติดีและที่สำคัญไม่รู้จักกันมาก่อน

เหตุเกิดที่ร้านขายยาที่เดี๊ยนทำงานอยู่ บ่ายวันเสาร์ ขณะที่เดี๊ยนทำหน้าที่เก็บเงินลูกค้าอยู่ที่เคาท์เตอร์แคชเชียร์ คุณป้าคนนี้มาต่อคิวชำระเงิน พอถึงคิวของเธอ เดี๊ยนก็ทักทายลูกค้าตามปกติ "Moi -Terve-หรือ Hei" และเมื่อเสร็จสิ้นการชำระเงินเดี๊ยนก็กล่าวขอบคุณและยิ้มให้ลูกค้าตามปกติ คุณป้าคนนี้พินิจใบหน้าของเดี๊ยน ยิ้มนิดๆแล้วเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงอย่างชื่นชมว่า "Sä oot hyvin kaunis tyttö." "เธอเป็นคนสวยนะ" โอะโฮะ เดี๊ยนก็อึ้งสิคะเพราะคาดไม่ถึง โดยปกติลูกค้าวัยนี้จะแค่พยักหน้าหรือกล่าวขอบคุณตอบพนักงานพอเป็นพิธี แต่เธอคนนี้ทำเอาเดี๊ยนตกกะใจจนเผลออุทานออกมา "Hu! Urr, kiitoksia." พูดได้แค่นี้จริงๆ ป้าแกอมยิ้มแล้วเดินจากไป

หลังจากนั้นทั้งวันเดี๊ยนก็เกิดอาการโลกสวย ฟ้าใสสิคะ รู้สึกเปรมปรีย์ม้ากที่ในที่สุดก็มีคนชื่นชมความสวยของเดี๊ยนออกมาดังๆให้เดี๊ยนได้ยิน จนต้องเอาไป มโนหลงตัวเองต่อไปอย่างลับๆ แต่ปลื้มอยู่ไม่นานก็ได้สติกลับคืนมา เพราะเมื่อพิจารณาคำพูดของป้าที่วนเวียนไปมาอยู่ในหัวแล้ว เริ่มไม่แน่ใจว่าเราตีความหมายของคำพูดป้าออกทะเลมากไปรึไม่ อันที่จริงป้าคงหมายถึงบุคลิกสินะ คงไม่ใช่ผิวหน้าที่เต็มไปด้วยหลุมสิว หน้าผากมันแผล็บ แต่งหน้าเหมือนไม่ได้แต่ง(เพราะแต่งไม่เป็น) หรือผมหางม้าที่มัดเกล้าขึ้นไปชุ่ยๆเพราะไม่พกหวี หรือคุณป้าอาจคิดว่าเรายิ้มสวย เพราะก็เคยมีคนชมรอยยิ้มของเรามาก่อน เอ๊ะ หรือว่าหน้าตาอย่างเราจะไปละม้ายคล้ายคลึงกับสาวสวยในอุดมคติของป้าเค้า หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าป้าคนนี้ชื่นชม Oriental feature ของสาวไทยที่แสดงความสุภาพ อ่อนน้อม แตกต่างจากสาวชาติเดียวกับป้าอย่างมาก แหม เสียดายที่นาทีนั้นมัวแต่อึ้งกิมกี่ หมดโอกาสถามว่าที่พูดมานั้นแกหมายถึงอะไร

พูดถึงเรื่องความสวยงามแล้ว อุดมคติความงามของชาวตะวันตกนั้นเหมือนจะแตกต่างจากอุดมคติของชาวเอเชียโดยสิ้นเชิง เราอาจเคยได้ยินว่าคนเอเชียที่สวยจะต้องมีผิวที่ขาวอมชมพู ผิวเนียนละเอียด ดูอ่อนวัย ปราศจากริ้วรอย ส่วนสาวสวยชาวตะวันตกจะต้อง มีผิวสีแทนนวลเนียน ดูสุขภาพดี หากศึกษาจากผลวิจัยพบว่า ผิวงามตามความคิดของคนไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นคือ "ผิวเหลืองเหมือนทอง นวลเนียนเรืองรองใสสะอาด อ่อนนุ่ม เกลี้ยงเกลา และมีกลิ่นหอมตามตัวละครในวรรคดีไทย" เมื่อได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ความคิดเกี่ยวกับความงามของผิวก็เปลี่ยนไป จากสีเหลืองทองไปเป็นสีขาว เพื่อแสดงความทันสมัย และความศิวิไลซ์เหมือนชาวตะวันตก นอกจากงานผิวแล้วลักษณะภายนอกอื่นๆก็ตามมา เช่น จมูกโด่งคมสัน ตากลมโตสองชั้น ทรวงอกอวบชูชัน คางแหลม ขาเรียว สะโพกกลมกลึง ริมฝีปากอวบอิ่ม ฯลฯ ก่อให้เกิด concept การเสริมความงาม "สวยด้วยแพทย์" แพร่สะพัด แต่เมื่อถามว่า หากเสริมความงามออกมาจากหัวจรดเท้าครบทุกส่วนแล้วจะทำให้กลายเป็นคนสวยไหม กลับไม่มีใครให้คำตอบที่แน่นอนได้

คำถามคือ "คนสวยเป็นยังไง มองยังไงถึงคิดว่าสวย"

คำถามนี้ค่อนข้างจะเปิดกว้างและลุ่มลึก คำตอบของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน บางคนอาจมองจากรูปกายภายนอกโดยวาดภาพนางงาม นักแสดง นางแบบ ตัวละคร หรือแม้แต่ตัวการ์ตูน บ้างคิดว่าคนสวยต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่น เดินสวย วางท่าสวย ยิ้มสวย ไหว้สวย แต่งตัวดี น่ามอง หรืออาจกล่าวถึงบุคลิกหรือการแสดงออกเช่น เรียบร้อย สุภาพ อ่อนน้อม กล้าหาญ ใจดี มั่นใจ หรือแม้แต่บอกความสวยได้จากความรู้สึก เช่น มีเสน่ห์ เย้ายวน น่าค้นหา เป็นต้น ดังนั้นคำตอบมีได้ล้านแปด ขึ้นอยู่กับว่าผู้ตอบมี concept เกี่ยวกับความสวยงามอย่างไร

หากจะกล่าวถึงทางธรรม คนสวยหรือคนงามในทางธรรมนั้นก็ควรมี "เบญจกัลยาณธรรม" คือ ธรรมที่ทำให้เป็นคนงาม หรือ ธรรมอันดีงาม ๕ อย่างเป็นคุณสมบัติประจำตัว ดังต่อไปนี้ 
๑. ใจดีมีเมตตา เมตตากรุณา คือ ความรักและปรารถนาดีที่จะให้ผู้อื่นมีความสุข และมีความสงสารคิดที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ภัยความเดือดร้อนทั้งปวง เอื้อเฟื้อและแบ่งปันน้ำใจให้สังคม มีจิตใจเมตตาปราณีต่อเพื่อนมนุษย์ หรือแม้กระทั่งต่อหมู่สัตว์ทั้งหลาย มักจะมีหน้าตาที่ผ่องใสอิ่มเอิบ มีสง่าราศี ผิดกับคนที่มีจิตอาฆาตพยาบาทเบียดเบียนต่อผู้อื่น ความเมตตาอย่างไม่มีประมาณนี้ ถือว่าเป็นตัวยาที่วิเศษในการที่จะเสริมความงามให้อย่างยิ่งยวด

๒. ใฝ่หาอาชีพสุจริต สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต ไม่หลอกลวงหรือโกงคนอื่นให้เสียหายไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่ทรยศต่อสังคมประเทศชาติเช่น ค้ายาเสพติดหรือค้าประเวณีเป็นต้น ไม่เป็นคนลักเล็กโขมยน้อย อันจะก่อความเดือดร้อนตามมา เพราะการเห็นแก่สิ่งเล็กน้อย เห็นว่าไม่มีใครรู้ แต่ถึงแม้ไม่มีใครรู้ ฟ้าก็รู้ ถึงแม้ฟ้าไม่รู้ แต่เรารู้ ทำมาหากินที่สุจริตแม้จะรวยช้า แต่ก็มีความสุขนาน ดีกว่าทุจริตประพฤติมิชอบ รวยเร็ว แต่ก็อยู่ไม่นาน อยู่ได้ด้วยความหวาดระแวง ไม่มีความสุข หน้าตาก็ไม่ผ่องแผ้ว อันเกิดจากจิตใจที่ไม่สะอาด

๓. ไม่คิดเฟ้อฟุ้ง กามสังวร คือ การสำรวมระวัง ควบคุมตนในเรื่องกามารมณ์ ความต้องการทางเพศให้พอเหมาะพอดี ไม่ให้หลงใหลในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ตามกระแสแฟชั่นนิยม ที่ผิดธรรมผิดทางหรือเกินพอดี จนทำให้ตนเอง ครอบครัว และสังคมต้องเดือดร้อน พอใจยินดีในคู่ครองตัว ไม่มัวเมาเจ้าชู้จนเกินงาม ควบคุม และยับยั้งอารมณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหา รักษาจิตของตนดี ไม่ให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล เพราะบางครั้งอำนาจของอารมณ์อาจทำให้อนาคตพังทลายลงได้ในพริบตา นำมาซึ่งความน่ารังเกียจต่อผู้พบเห็น ฉะนั้นจะทำอะไรก็ให้อยู่ในความพอดี เมื่อพอดีก็จะพองาม ความงามที่แท้จริงก็จะตามมา

๔. มุ่งมั่นจริงใจ มีสัจจะ คือ มีความซื่อสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ จริงใจต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่สับปรับกลับกลอกที่เรียกว่าหน้าไหว้หลังหลอก เป็นคนตรงต่อหลักการและความถูกต้อง การเป็นคนมีสัจจะ จะเป็นเสน่ห์อย่างมากในการเข้าสังคม เป็นที่เชื่อถือของคนในสังคม ไม่ว่าใครก็ตามจะให้ความไว้วางใจ อย่างไม่รีรอ นับว่าเป็นความงามที่มีผลสำคัญต่อชีวิต หน้าที่การงาน อันจะส่งผลถึงอนาคตความมั่นคงในชีวิต

๕. ทำสิ่งใดให้รู้ตัว มีสติสัมปชัญญะ คือ ฝึกตนให้เป็นคนหนักแน่นในอารมณ์ รู้จักยั้งคิด และควบคุมความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ สิ่งใดมีคุณให้โทษมีประโยชน์และไร้สาระ ตลอดจนระวังมิให้เป็นคนมัวเมาประมาทในทุกลมหายใจเข้าออก มีสติรู้ตัวอยู่ทุกขณะจิต คิดไม่ผิดพลาด พูดไม่ผิดพลาด และทำไม่ผิดพลาด การมีสตินับว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตอย่างมาก ความระลึกได้ และความรู้สึกตัวในทุกขณะที่กระทำ จะก่อให้เกิดความผิดพลาดน้อย หรือแทบจะไม่มีเลย การมีสตินั้น เป็นข้อสำคัญที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอน เพราะสติเป็นหัวใจของทุกอย่าง ของทุกการกระทำ หรือที่เรียกว่า สมาธิ ก็คือ การฝึกสติ นั่นเอง เมื่อฝึกสติบ่อยเข้า ความหลงมัวเมาในมายา ก็จะไม่มี เมื่อไม่มีความหลง การรู้ตามความเป็นจริงก็จะเกิดขึ้นมา และเมื่อใดที่มีสติรู้ตามความเป็นจริงแล้ว จิตก็จะไม่มีความทุกข์ เมื่อไม่มีความทุกข์ ความสุขก็จะบังเกิด เมื่อสุขบังเกิด ความสบายใจ ความผ่องใส แช่มชื่น ความปีติ เอิบอิ่ม ที่ปรากฏในจิตใจ ก็จะแสดงออกมาทางสีหน้า กิริยาท่าทาง ที่เรียบร้อย งดงาม ความสวยงามที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น (ที่มา : เสริมสวยด้วยพุทธวิธี)



โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่า"คนสวย"ดูที่ใจ ดูจากการกระทำ ไม่จำเป็นต้องเสริมแต่ง ไม่ต้องมีรูปสมบัติหรือบุคลิกดีแบบอุดมคติ เพียงวางตัวดี คิดดี ทำดี รักและพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่เบียดเบียนหรือทำร้ายใคร แค่นี้เอง ท้ายนี้เดี๊ยนจึงขอสรุปด้วยกลอนที่ว่า

คนจะงาม งามน้ำใจ ใช่ใบหน้า
คนจะสวย สวยจรรยา ใช่ตาหวาน
คนจะแก่ แก่ความรู้ ใช่อยู่นาน
คนจะรวย รวยศีลทาน ใช่บ้านโต

ป.ล. ไม่ว่าตัวคุณเองจะมองว่าตัวเองสวยแบบไหน ขอเพียง"อย่าหยุดสวย" :)