วันศุกร์, เมษายน 18, 2557

ฝึกลูกชายเล่นซูโดะกุ (sūdoku: brain-training game)


วันนี้เป็นวันหยุดวันแรกของเทศกาลอีสเตอร์ของฟินแลนด์ สอง แม่-ลูกจึงหากิจกรรมเล็กๆน้อยๆทำด้วยกันที่บ้าน  เนื่องจากก่อนหน้านี้แม่ยอมเล่น "เกมทายชื่อประเทศจากรูปธงชาติของทวีปยุโรป"กับไทเลอร์ ทั้งๆที่เป็นเกมที่แม่ไม่ถนัด(ไม่อยากบอกเลยว่าแม่อ่อนวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไรแล้วล่ะลูกเอ๊ย) คราวนี้ไทเลอร์จึงสัญญาว่าจะเล่นเกมที่แม่เลือก และเกมที่แม่โปรดปรานมากก็คือ...แต่นแต๊น...ซูโดะกุ(sūdoku)นี่ไง

ซูโดะกุ(sūdoku) คือเกมปริศนาตัวเลข ที่ผู้เล่นต้องเลือกใส่ หมายเลขตั้งแต่ เลข 1 ถึงเลข 9 โดยมีเงื่อนไขว่าในแต่แถวและแต่ละหลักตัวเลขต้องไม่ซ้ำกัน ตารางซูโดะกุจะมี 9×9 ช่อง ซึ่งประกอบจากตารางย่อย 9 ตาราง ในลักษณะ 3×3 แบ่งแยกกันโดยเส้นหนา และในแต่ละตารางย่อยจะต้องมีตัวเลข 1 ถึง 9 เช่นเดียวกัน เมื่อเริ่มเกมจะมีตัวเลขบางส่วนให้มาเป็นคำใบ้ และผู้เล่นจะต้องใส่ทุกช่องที่เหลือให้ครบ โดยตามเงื่อนไขว่าแต่ละตัวเลขในแต่ละแถวและหลักจะใช้ได้ครั้งเดียว รวมถึงในแต่ละขอบเขตตารางย่อย การเล่นเกมนี้จำเป็นต้องใช้ความสามารถในด้านตรรกะตรรกะและความอดทนรวมถึงสมาธิ เกมนี้เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในปีพ.ศ. 2522 ในชื่อนัมเบอร์เพลส แต่เป็นที่นิยมและโด่งดังในประเทศญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ ซูโดะกุ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2529 และเป็นที่นิยมทั่วโลกอีกครั้งในปีพ.ศ. 2548
(คำอธิบายจาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%8B%E0%B8%B9%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B8)

Sudoku-by-L2G-20050714
Credit: By Tim Stellmach [Public domain], via Wikimedia Commons

ตาราง ซูโดะกุ 9×9 ช่อง และตัวเลขที่ใบ้ไว้ตอนเริ่มเกม จุดมุ่งหมายของเกมคือใส่ตัวเลขที่เหลือให้หมด โดยแต่ละแถวและหลักเลขจะไม่ซ้ำกัน
เกมนี้โดยทั่วไปจะมีระดับความยาก-ง่ายอยู่สี่ระดับ คือ ง่าย ปานกลาง ยาก และยากมาก และนอกจากจะมีรูปแบบตารางขนาดมาตรฐาน 9x9 ช่องแล้ว ยังมีตารางแบบ 4x4, 6x6, 12x12, 16x16, 25x25,...หรือมากถึง 49x49 โดยตารางที่มีขนาดใหญ่ขึ้นก็จำเป็นต้องเติมตัวเลขที่มีจำนวนมากขึ้นไปตามลำดับ
แต่พวกเราคุ้นเคยกับตารางแบบมาตรฐาน ที่มักจะหาเจอตามหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือหนังสือฝึกเล่นเกมปริศนาทั่วไป วันนี้เราจึงเริ่มเล่นจากตาราง 9x9 และระดับความง่ายก่อน

ส่วนอุปกรณ์การเล่นของเราคือ กระดานซูโดะกุแม่เหล็กที่สามารถแปะตัวเลขที่เป็นแผ่นแม่เหล็กและแกะออกมาได้ง่าย พร้อมกับหนังสือตัวอย่างคำใบ้จากระดับง่าย ถึง ระดับยาก แรกๆลูกชายซึ่งเคยเห็นแม่เล่นบ่อย ก็ขอลองเล่นบ้าง โดยให้แม่ช่วยแนะว่าแถวไหน ช่องไหนที่น่าจะลองเติมตัวเลขให้ครบก่อน ซึ่งก็ใช้การคาดคะเนความน่าจะเป็นโดยพิจารณาจากตัวเลขอื่นๆที่วางในตาราง หลักหรือแถวเดียวกันควบคู่กันไป ยิ่งเติมตัวเลขลงไปมากเท่าไหร่ ความน่าจะเป็นที่จะใส่ตัวเลขที่เหลือลงในช่องที่ว่างอยู่ก็ยิ่งสูงขึ้น โดยมีเงื่อนไขเดียวคือ ตัวเลขในแต่ละแถวและหลักจะใช้ได้ครั้งเดียว รวมถึงในแต่ละขอบเขตตารางย่อยด้วย จากนั้นเป็นต้นมาลูกชายก็ฝึกเล่นเองบ้าง โดยที่แม่คอยเช็คความถูกต้อง แต่ยังคงเล่นในระดับที่ง่าย และยังไม่ซับซ้อน ผลก็คือลูกมีสมาธิดีขึ้น ใช้เวลาเล่นน้อยลง และก็เติมเลขผิดน้อยลงด้วย หากฝึกเล่นอีกสองถึงสามปี อาจสามารถยกระดับขึ้นมาเล่นความยากระดับปานกลาง และระดับที่ยากขึ้นต่อไปได้ 


เป้าหมายสูงสุดของแม่ที่พยายามให้ลูกฝึกเล่นเกมซูโดะกุก็คือ ต้องการฝึกให้ลูกมีสมาธิ ฝึกการใช้ตรรกะ พัฒนาสมองซีกซ้ายให้สามารถชั่งน้ำหนักเหตุและผล เพื่อหาคำตอบ และแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็นโจทย์ในบทเรียนหรือในชีวิต  นอกจากซูโดะกุแล้ว ก็ยังมีเกมอื่นๆอีกมากมายที่ช่วยฝึกสมองของลูก เช่น บอร์ดเกมต่างๆ(หมากรุก หมากฮอส ฯลฯ) เกมส์ไพ่ เกมส์เศรษฐี เกมเติมคำศัพท์(crossword) เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าคุณแม่ทุกคนช่วยฝึกสมองซีกซ้ายให้ลูกได้ด้วยการสนับสนุนให้ลูกเล่นเกมฝึกสมองแบบนี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น