วันอังคาร, มีนาคม 27, 2561

ช่วงพักฟื้น ยา และ ค่ารักษาพยาบาล

บทความนี้เป็นเรื่องราวต่อจากบทความหัวข้อ  ในวันที่ฉันป่วยหนัก ณ ร.พ.รัฐของประเทศฟินแลนด์
 
หลังจากที่เดินทางออกจากโรงพยาบาล เราต้องนำใบสั่งยาไปที่ร้านขายยาเพื่อซื้อยาที่หมอกำกับให้ทานขณะพักฟื้นที่บ้าน ตัวยาที่ระบุในใบสั่งยา คือ Cefalexin 500mg และ Metronidazol 400mg ครั้งละสองเม็ด วันละสามครั้งหลังอาหาร เป็นเวลาสิบวัน และในระหว่างวันเภสัชกรแนะนำให้ทาน Probiotics ควบคู่ไปด้วย 

ยาปฏิชีวนะที่ต้องทานหลังจากออกจากโรงพยาบาล ครั้งละสองเม็ด สามเวลาหลังอาหาร
ควบคู่กับ Probiotics สองแคปซูลเช้าและเย็น ซึ่งช่วยเพิ่มเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ให้กับทางเดินอาหาร

ทำไมต้องทาน Probiotics  

ในร่างกายของเรามีเชื้อโรคเล็กๆประจำถิ่น เช่น แบ็คทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา อยู่มากมายเต็มไปหมดตั้งแต่ในช่องปากไปจนถึงลำไส้ และช่องคลอด รวมถึงบนผิวหนังของเราด้วย หากร่างกายเราอยู่ในสภาวะปกติ เชื้อโรคพวกนี้จะไม่ก่อให้เกิดโรค และพวกมันยังมีหน้าที่สำคัญต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรียในลำไส้ หรือ Probiotics ช่วยย่อยอาหาร ผลิตสารอาหารที่สำคัญ ควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน และปกป้องเราจากเชื้อโรคร้าย แต่หากมีปัจจัยที่ทำให้ระบบนิเวศในร่างกายเสียสมดุล เช่นการทานยาปฏิชีวนะที่ไม่เพียงแต่ฆ่าเชื้อโรคร้าย แต่ยังทำลายเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ของเราด้วย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเสริมเชื้อแบคทีเรียพวกนี้เข้าไป เพื่อปรับสมดุลจำนวนประชากรแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดประโยชน์หลายๆด้านต่อร่างกาย

Probiotics มีกี่ชนิด และพบในอาหารอะไรบ้าง

ที่สำคัญและรู้จักกันดี ได้แก่แบ็คทีเรียในกลุ่มที่สร้างกรดแลคติก (Lactic acid bacteria, LAB)
เช่น Lactobacillus และ Bifidobacterium โดยทั่วไปแล้วสามารถพบในอาหารหมักดองหลายชนิด
เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต แหนม กิมจิ แตงกวาดอง dark chocolate, ชีส, miso เป็นต้น (ขอบคุณที่มา https://pantip.com/topic/30217195)

นอกจากจะพบในอาหารแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริม Probiotics ที่จำหน่ายในรูปเม็ด แคปซูล และแบบผงอีกด้วย ส่วนในฟินแลนด์นั้น ส่วนใหญ่เภสัชกรจะแนะนำให้ทานผลิตภัณฑ์เสริม Probiotics สำหรับผู้ที่ต้องทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันหลายวัน ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหารหรือการขับถ่าย ผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อในทางเดินอาหาร เช่นผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงเด็กทารกและเด็กเล็กเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

ประโยชน์ของการทาน Probiotics ที่มีผลการวิจัยรับรอง ได้แก่

1. ลดปัญหาท้องผูกลงได้อย่างชัดเจน ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ถ่ายง่าย
2. ลดปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหารทั้งหลาย เช่น อึดอัด แน่นท้อง ปวดท้อง
ลดโอกาสการติดเชื้อ H. pylori ในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของแผลในกระเพาะอาหาร
3. ป้องกันและลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้
4. ลดโอกาสการเกิดท้องเสียจากเชื้อ Enterovirus ที่เจอได้บ่อยที่สุดในเด็กเล็ก
5. ลดโอกาสการเกิดท้องเสียจากผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะ
6. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสการเป็นภูมิแพ้ในเด็ก
7. ช่วยลดระดับของคอเลสเทอรอล (cholesterol) ฟอสฟอลิปิด (phospolipid) และไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเลือด โดย Lactobacillus acidophilusซึ่งเป็นจุลินทรีย์กลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้จะช่วย ย่อยสลายคอเลสเตอรอล (choloesterol) และยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอล ผ่านผนังลำไส้
8. ป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
9. ป้องกันและช่วยรักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
(ขอบคุณที่มา https://pantip.com/topic/30217195)

วิดีโอด้านล่างให้ความรู้เกี่ยวกับ ระบบนิเวศของเชื้อโรคประจำท้องถิ่นต่างๆที่อยู่ในลำไส้ของเรา รวมถึงประโยชน์ของพวกมัน และอาหารที่ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศนี้ (สามารถเลือกคำบรรยายภาษาไทย โดยไปที่ การตั้งค่า -- คำบรรยาย -- ไทย)




ส่วนวิดีโอนี้อธิบายความสัมพันธ์ของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เชื้อโรคที่ดื้อยา และการรักษาทางเลือกที่ในอนาคตอาจลดจำนวนเชื้อโรคที่ต้านยาปฏิชีวนะได้ (สามารถเลือกคำบรรยายภาษาไทย โดยไปที่ การตั้งค่า -- คำบรรยาย --ไทย)



แผลผ่าตัด ยี่สิบสามวันหลังผ่าตัด ด้ายเย็บแผลหลุดออกแล้ว
ในขณะที่พักฟื้นนั้น ก็ได้รับคำแนะนำให้ทานอาหารที่ย่อยง่าย หมออนุญาตให้เดินเหินได้ตามปกติทั้งในบ้านและนอกบ้าน และยังสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติแต่ควรจำกัดให้อยู่ในระดับที่ร่างกายรับไหว แม้จะต้องงดการอบตัวในซาวน่าเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ แต่ก็อาบน้ำได้ตามปกติและไม่จำเป็นต้องปิดแผลผ่าตัด เพื่อที่ไหมเย็บแผลจะละลายหลุดออกไปได้อย่างสะดวก  ช่วงนี้อาจยังมีเลือดออกคล้ายประจำเดือนประมาณสองถึงสามวัน จึงควรล้างทำความสะอาดบริเวณนี้ด้วยน้ำเปล่า งดการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด งดการมีเพศสัมพันธ์ งดการอาบน้ำในอ่างอาบน้ำหรือการลงว่ายน้ำในสระ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำซ้อน แต่หากมีอาการดังนี้ เช่นมีไข้ แผลผ่าตัดบวมแดง หรือ เจ็บปวดบริเวณท้องน้อย ควรติดต่อแพทย์โดยด่วน และเมื่อครบเวลาหนึ่งอาทิตย์ของการพักฟื้นที่บ้าน เราก็กลับไปทำงานตามปกติ วันแรกยังเดินและทำงานลำบาก แต่ร่างกายและกล้ามเนื้อค่อยๆฟื้นฟูกำลัง วันต่อๆมาจึงมีแรงเดินและลุกนั่งได้ดีขึ้นตามลำดับเพียงแต่ยังไม่สามารถยกของหนักได้ตามปกติ 

หลังจากกลับมาพักฟื้นครบสองอาทิตย์เราก็ได้รับบิลเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาล ปรากฏว่าค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดจำนวนเจ็ดวันหกคืน รวมเบ็ดเสร็จทั้งค่าห้อง ค่าผ่าตัด ค่ายาขณะที่รักษาตัวในร.พ. ค่าอาหาร และค่าบริการต่างๆ รวมทั้งหมดนี้ต้องจ่ายเพียง 342,30 ยูโร หรือวันละ 48,90 ยูโร คิดเป็นเงินไทยน่าจะราวๆ 13,200 บ. (คูณจากเรท 1 ยูโร = 38,55  บาท) หรือวันละ 1,885 บาท



ส่วนตัวคิดว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่แพงเลยสำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ในโรงพยาบาลของรัฐ นี่คงเป็นเพราะฟินแลนด์เป็นรัฐสวัสดิการ คือรัฐนำเงินจากภาษีมาบำรุงระบบการให้บริการสาธารณสุข โดยให้สวัสดิการประกันสุขภาพแก่ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในฟินแลนด์ ให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและราคาไม่แพง โดยไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำหรือสูงก็ได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน และชำระเงินเท่ากัน เพราะรัฐกำหนดให้มีการเก็บค่าบริการทางการแพทย์แต่ละประเภทเป็นจำนวนคงตัว เช่น ระหว่างปี 2018 - 2019 ค่าบริการผู้ป่วยใน (Hoitopäivämaksu) ในโรงพยาบาลของรัฐเท่ากับ 48,90 ยูโร/วัน และเพดานค่าบริการสะสม (Terveydenhuollon maksukatto) รวมในปีหนึ่งไม่เกิน 683 ยูโรหากเกินกว่านี้จะได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าบริการเป็นต้น สามารถอ่านรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงพัฒนาสังคมและสาธารณสุขของประเทศฟินแลนด์เป็นภาษาฟินนิช ตามลิงค์นี้ http://stm.fi/terveydenhuollon-maksukatto

เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเราแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่า การที่รัฐสวัสดิการนำเงินจากภาษีมาบำรุงระบบการให้บริการสาธารณสุข โดยไม่แบ่งแยกระดับการให้บริการหรือแบ่งมาตรฐานโรงพยาบาลของรัฐตามเกรด ทำให้รัฐสามารถควบคุมมาตรฐานระบบการให้บริการสาธารณสุขทั่วทั้งประเทศได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลและได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนมีเงิน หรือคนหาเช้ากินค่ำ หรือแม้แต่ในกรณีที่ไม่มีเงินชำระค่าบริการ ก็ยังสามารถขอรับเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นของรัฐได้ตามความจำเป็น และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของคนที่นี่ดีกว่าบ้านเรา 

นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลก็ยังส่งรายงานเค้สแก่ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ เป็นเอกสารลับส่วนตัวที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับอาการ อาการแสดง การวินิจฉัย การรักษาพยาบาล และการติดตามผล เป็นต้น



สรุปเลยว่า ประทับใจการให้บริการของโรงพยาบาลรัฐของฟินแลนด์มาก เพราะเค้าดูแลเราดีจริงๆ ไม่ใช่แบบประคบประหงมหรือชวนคุยตีสนิท แต่เค้าทำหน้าที่ได้ดีทุกคนเลย ตั้งแต่หมอ พยาบาล ยันแม่บ้าน ให้ยาตรงเวลา เสริฟอาหารตรงเวลา เก็บขยะและทำความสะอาดทุกวัน และที่สำคัญแม้เราจะเป็นคนต่างชาติ ภาษาฟินนิชก็พูดไม่เก่ง แต่ก็ยังดูแลเราดีเหมือนๆคนไข้คนอื่นๆเลย (เราคุยสื่อสารกับหมอเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเป็นการซักไซ้และอธิบายอาการเจ็บป่วยอย่างละเอียด ส่วนพยาบาลและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆที่ดูแลเราเป็นประจำจะพูดภาษาฟินนิชแบบเข้าใจง่ายกับเรา) เป็นครั้งแรกจริงๆที่รู้สึกภูมิใจที่เป็นผู้ชำระภาษีจากรายได้ทุกเดือนมาเป็นเวลากว่าหกปี วันนี้เรารู้แล้วว่าเงินภาษีของเราส่วนหนึ่งมันไปอยู่ไหน และมันกลับคืนมาดูแลเราอย่างไร :)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น