วันพฤหัสบดี, เมษายน 24, 2557

ความสุขเล็กๆของลูกจ้างร้านขายยา

อยากเขียนเล่าว่า ทุกๆเทศกาลที่ทำงานก็จะมีเซอร์ไพรซ์เล็กๆน้อยๆโดยเจ้าของร้านขายยา หรือ 'apteekkari' อาทิเช่น คริสมาสต์ปีที่แล้วก็มีการจัดปาร์ตี้ Pikkujoulu เป็นคลาสอบรมการทำพวงหรีดคริสมาสต์ที่ร้านขายดอกไม้ Kukkatalo ซึ่งเมื่อจบคลาส ทุกคนก็ได้พวงหรีดทำเองนำไปประดับบ้านอย่างภูมิใจ

พวงหรีดคริสมาสต์ที่เราทำเอง
นอกจากนี้ท่านยังแจกของขวัญคริสมาสต์แก่พนักงานทุกคน ซึ่งได้แก่ ช็อคโกแล็ตกล่องมหึมา การ์ดอวยพร และของขวัญอีกหนึ่งห่อ และพอแกะดูแล้วมันคือ ชุดมีดทำครัวและแม่เหล็กวางมีดกับผนัง FISKARS สุดแพงเพราะมันคือยี่ห้อที่ใช้ได้ทนที่สุดที่แม่บ้านฟินแลนด์ควรมีไว้ครอบครอง
(ชื่นชอบการได้รับของขวัญที่นำไปใช้ได้และทนทาน อย่างชุดทำครัวชุดนี้ก็เป็นหนึ่งในของขวัญแห่งปี ที่ชอบมากและใช้ทุกวัน เพราะทำกับข้าวเองเกือบทุกมื้อ)



และล่าสุดคือ เทศกาลอีสเตอร์ปี 2014 ทุกคนได้รับดอกไม้คนละหนึ่งช่อและช็อคโกแล็ตอีกหนึ่งกล่อง จำได้ว่าอีสเตอร์ปีที่แล้วพวกเราก็ได้ดอกไม้เช่นกัน :) เมื่อคนให้ยินดี คนรับก็ชื่นใจที่ได้รับค่ะ


วันจันทร์, เมษายน 21, 2557

Chili burglar : จับได้แล้ว "หัวขโมยกัดใบพริก"!!!


สัปดาห์แรกผ่านไปอย่างรวดเร็ว ยาสุปรับตัวได้ดี มันเริ่มมีที่โปรดในห้องนอนของเรา ชอบที่จะเอกเขนกนอนบนที่นอนของเราเวลากลางวัน



หลายครั้งมันจะนอนบนพรมหน้าห้องน้ำขณะที่มีคนกำลังอาบน้ำ และแง้มประตูเข้าไปสำรวจทันทีที่พวกเราปิดก็อกน้ำ
พอเวลาที่ทุกคนเข้านอนมันก็จะกระโดดขึ้นไปนอนบนเก้าอี้ประจำของมันรอให้เราดับไฟเข้านอน แล้วเช้าตรู่มันจะเข้ามาทักทายขณะที่เรากำลังแปรงฟัน พร้อมกับล้มตัวลงนอนข้างเท้าเพื่อให้เราลูบตัวมัน เวลาที่เราเปิดประตูเข้ามาในบ้านก็จะเห็นมันนอนอยู่หลังรั้วกั้น หรือเยี่ยมหน้าออกมาทักทายไม่ว่ามันจะนอนอยู่ตรงไหนของบ้าน

นอกจากพฤติกรรมการนอนแล้ว ยาสุยังโปรดปรานเกมตะปบของเล่นที่นำมาล่อ และไม่ว่าสิ่งใดที่ห้อยอยู่ มันจะต้องเอื้อมตะปบดึงลงมาทำให้เสียหายจนได้ แต่โชคดีที่ยังไม่มีเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใดแตกเสียหาย นอกจากลูกบอลไหมพรมหนึ่งลูกที่ถูกมันเอื้อมกระชากลงจากผนังและเขี่ยจนบอลบิดเบี้ยวเสียทรง (ก็แมวกับไหมพรมเนี่ยดันเป็นของคู่กันนี่นา เห็นไหมพรมทีไรเจ้าเหมียวไม่เคยอดใจได้ซักที)


แต่...มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณสามีร้องกรี๊ด เมื่อเช้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาพบว่า พริกต้นสุดท้ายที่ทะนุถนอมเลี้ยงดูมาอย่างดี เพราะปลูกเองตั้งแต่หน้าร้อนปีที่แล้ว เมื่อสังเกตดูใกล้ๆพบว่า เกือบทุกใบของต้นพริกถูกกัดจนแหว่งบ้าง หรือบางใบมีก็มีรูพรุนจนน่าหวั่นใจ


สงสัยว่าน่าจะเป็นฝีมือของสมาชิกใหม่ที่เพิ่งย้ายมาอยู่ด้วยกัน แต่ในเมื่อไม่มีหลักฐาน เราก็ยังไม่ปักใจเชื่อ และก็ไม่ได้ลงโทษจนกว่าจะเห็นกับตา ส่วนมาตรการณ์รักษาความปลอดภัยของน้องต้นพริก ก็คือใช้กระดาษห่อรอบกระถางให้มีความสูงกว่ายอดพริก เพื่อกันแมวเหมียวยาสุแทะเล็ม รวมทั้งจับตาดูเจ้าวายร้ายไม่ให้เข้าใกล้น้องพริก ยาสุก็ฉลาดที่ไม่ทำพิรุธให้เห็น มันเพียงเดินเฉียดกระถางไป-มา แล้วก็ทำท่าดอมดมกระถางดอกไม้ข้างๆ ยามที่มันเดินเข้าไปใกล้ต้นพริกพวกเราก็โบกมือและส่งเสียงห้าม มันก็เลิกราแต่โดยดี จนกระทั่งหลายวันต่อมามันคงจะทนไม่ไหว จึงใช้จมูกดันกระดาษที่ห่อกระถางให้เอียงเข้าไปในกระถางและเริ่มขยับปากแทะเล็มใบพริก ทันใดนั้นหัวขโมยก็ถูกจับพร้อมกับถูกพ่นน้ำเข้าเต็มหน้า มันวิ่งหนีด้วยความตกใจ คราวนี้อาจจะหลาบจำไม่มาแอบกินใบพริกอีก แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ พวกเราจึงจัดมาตรการณ์ขั้นเด็ดขาด นั่นคือ ย้ายต้นพริกขึ้นไปวางบนชั้นหนังสือสูงๆ และเพื่อไม่เป็นการหลอกล่อให้ยาสุกระโดดสูงเพื่อชิงต้นพริก พวกเราได้วางเปลือกส้มรอบๆกระถาง เนื่องจากแมวเกลียดกลัวกรดและกลิ่นจากเปลือกส้มมาก(ก็เพิ่งรู้นี่แหละนะ)
จากนี้ไป ต้นพริกคงจะปลอดภัยจากแมวจอมซน และคงจะโตขึ้น ออกดอกให้ผลผลิตแก่เราเร็วๆนี้นะ
 " ขอบคุณนะที่ยังอึดและไม่ตายเหมือนต้นอื่นๆ "

วันอาทิตย์, เมษายน 20, 2557

Once upon a time with Jasu : ยาสุ แมวเหมียวจอมซน


เมื่อเดือนที่แล้วพวกเราได้ต้อนรับการมาเยือนของยาสุ สัตว์เลี้ยงของเพื่อนคนหนึ่งที่กำลังเดินทางท่องเที่ยวในเมืองไทยพร้อมครอบครัวเป็นเวลาหนึ่งเดือน อันที่จริงพวกเราก็คุ้นเคยกับยาสุพอสมควร เพราะได้เจอทุกครั้งที่แวะเยี่ยมเยียนบ้านของเพื่อนซึ่งไม่ไกลจากบ้านเรามากนัก แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ยาสุมาพักกับพวกเรา โดยที่เพื่อนได้เตรียมกระบะทราย อาหาร ของเล่น รวมทั้ง Cat tower (ชั้นลอยฟ้าสำหรับพักผ่อน ปีนขึ้นลง และฝนเล็บ) ของยาสุมาด้วย

โดยที่เพื่อนได้ย้ำให้พวกเราระวังเป็นพิเศษเมื่อเปิด-ปิดประตูบ้าน เพราะเจ้ายาสุอาจเล็ดลอดหนีออกนอกบ้านได้ เพราะเคยเกิดเหตุการณ์ที่ยาสุลอดออกนอกบานหน้าต่างที่แง้มไว้แล้วปีนขึ้นไปบนระเบียงของเพื่อนบ้านมาแล้ว ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงจัดเตรียมลวดตาข่ายที่กางได้ 90 องศาเพื่อกันยาสุยามที่พวกเราต้องเปิด-ปิดประตูหน้าบ้าน ลวดตาข่ายที่ว่านี้ก็ทำหน้าที่ได้ดี เพราะยาสุไม่มีโอกาสแย้มหน้าออกนอกประตูบ้านเลยแม้แต่ครั้งเดียว

คืนแรกยาสุยังต้องปรับตัว ปรับจมูกรับกลิ่นของบ้านใหม่ ดังนั้นมันจึงเดินสำรวจ สูดดม ถูไถตัวมันกับสิ่งของรอบๆบ้าน ทุกซอกทุกมุม  แต่ยังเกรงๆกลัวๆที่จะเข้ามาคลอเคลียกับตัวเรา แต่คืนต่อมามันก็เริ่มกระโดดขึ้น-ลงชั้นหรือตู้ เข้ามาถูไถตัวบนขาเรา กล้าเล่น และยังกล้าข่วนอีกด้วย

พวกเราเองก็ต้องปรับตัว เรียนรู้นิสัยส่วนตัวของมันด้วย ตัวอย่างเช่น ต้องคอยแง้มเปิดประตูห้องทุกห้องทิ้งไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะมันจะต้องเดินเข้า-ออกตามใจฉันได้อย่างสะดวก ไม่อย่างนั้นมันก็จะร้องเตือนและตะกายประตูด้วยเสียงอันดัง หรือการแปรงขนบนตัวมันจะทำอย่างไรให้มันส่งเสียงออกมาด้วยความพอใจ และไม่ก่อให้เกิดความรำคาญจนถูกมันข่วนเอา หรือ เล่นกับมันด้วยของเล่นชิ้นไหน อย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายแก่ข้าวของหรือเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน หรือแม้แต่การห้าม หรือลงโทษ เมื่อการห้ามไม่เป็นผลก็ต้องหาวิธีลงโทษให้เข็ดหลาบ  เป็นต้น

ป.ล. พวกเราจะไม่ตีเด็กดื้อหรือแมวดื้อเป็นอันขาด แต่จะใช้วิธีลงโทษเมื่อทำผิด นั่นก็คือให้เด็กนั่งสำนึกผิดตรงมุมห้องเป็นเวลานานซึ่งเด็กไม่ชอบ เนื่องจากก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายและอาการเหน็บชามาเยือน ส่วนแมวที่เกลียดน้ำเป็นหนักหนานั้น พวกเราจะลงโทษด้วยการฉีดน้ำใส่หน้าเมื่อแมวเกิดอาการดื้อรั้นหรือของขึ้น แต่ก็หยุดมันได้แค่ชั่วคราวเพราะเมื่อไม่มีคนอยู่บ้านมันก็แอบทำอีกจนได้ ก็แมวมันฉลาดจะตายไป๊!



ยังมีเรื่องเล่าต่อนะคะ โปรดติดตามตอนต่อไปใน Chili burglar : จับได้แล้ว "หัวขโมยกัดใบพริก"!!! 


วันศุกร์, เมษายน 18, 2557

ฝึกลูกชายเล่นซูโดะกุ (sūdoku: brain-training game)


วันนี้เป็นวันหยุดวันแรกของเทศกาลอีสเตอร์ของฟินแลนด์ สอง แม่-ลูกจึงหากิจกรรมเล็กๆน้อยๆทำด้วยกันที่บ้าน  เนื่องจากก่อนหน้านี้แม่ยอมเล่น "เกมทายชื่อประเทศจากรูปธงชาติของทวีปยุโรป"กับไทเลอร์ ทั้งๆที่เป็นเกมที่แม่ไม่ถนัด(ไม่อยากบอกเลยว่าแม่อ่อนวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไรแล้วล่ะลูกเอ๊ย) คราวนี้ไทเลอร์จึงสัญญาว่าจะเล่นเกมที่แม่เลือก และเกมที่แม่โปรดปรานมากก็คือ...แต่นแต๊น...ซูโดะกุ(sūdoku)นี่ไง

ซูโดะกุ(sūdoku) คือเกมปริศนาตัวเลข ที่ผู้เล่นต้องเลือกใส่ หมายเลขตั้งแต่ เลข 1 ถึงเลข 9 โดยมีเงื่อนไขว่าในแต่แถวและแต่ละหลักตัวเลขต้องไม่ซ้ำกัน ตารางซูโดะกุจะมี 9×9 ช่อง ซึ่งประกอบจากตารางย่อย 9 ตาราง ในลักษณะ 3×3 แบ่งแยกกันโดยเส้นหนา และในแต่ละตารางย่อยจะต้องมีตัวเลข 1 ถึง 9 เช่นเดียวกัน เมื่อเริ่มเกมจะมีตัวเลขบางส่วนให้มาเป็นคำใบ้ และผู้เล่นจะต้องใส่ทุกช่องที่เหลือให้ครบ โดยตามเงื่อนไขว่าแต่ละตัวเลขในแต่ละแถวและหลักจะใช้ได้ครั้งเดียว รวมถึงในแต่ละขอบเขตตารางย่อย การเล่นเกมนี้จำเป็นต้องใช้ความสามารถในด้านตรรกะตรรกะและความอดทนรวมถึงสมาธิ เกมนี้เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในปีพ.ศ. 2522 ในชื่อนัมเบอร์เพลส แต่เป็นที่นิยมและโด่งดังในประเทศญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ ซูโดะกุ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2529 และเป็นที่นิยมทั่วโลกอีกครั้งในปีพ.ศ. 2548
(คำอธิบายจาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%8B%E0%B8%B9%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B8)

Sudoku-by-L2G-20050714
Credit: By Tim Stellmach [Public domain], via Wikimedia Commons

ตาราง ซูโดะกุ 9×9 ช่อง และตัวเลขที่ใบ้ไว้ตอนเริ่มเกม จุดมุ่งหมายของเกมคือใส่ตัวเลขที่เหลือให้หมด โดยแต่ละแถวและหลักเลขจะไม่ซ้ำกัน
เกมนี้โดยทั่วไปจะมีระดับความยาก-ง่ายอยู่สี่ระดับ คือ ง่าย ปานกลาง ยาก และยากมาก และนอกจากจะมีรูปแบบตารางขนาดมาตรฐาน 9x9 ช่องแล้ว ยังมีตารางแบบ 4x4, 6x6, 12x12, 16x16, 25x25,...หรือมากถึง 49x49 โดยตารางที่มีขนาดใหญ่ขึ้นก็จำเป็นต้องเติมตัวเลขที่มีจำนวนมากขึ้นไปตามลำดับ
แต่พวกเราคุ้นเคยกับตารางแบบมาตรฐาน ที่มักจะหาเจอตามหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือหนังสือฝึกเล่นเกมปริศนาทั่วไป วันนี้เราจึงเริ่มเล่นจากตาราง 9x9 และระดับความง่ายก่อน

ส่วนอุปกรณ์การเล่นของเราคือ กระดานซูโดะกุแม่เหล็กที่สามารถแปะตัวเลขที่เป็นแผ่นแม่เหล็กและแกะออกมาได้ง่าย พร้อมกับหนังสือตัวอย่างคำใบ้จากระดับง่าย ถึง ระดับยาก แรกๆลูกชายซึ่งเคยเห็นแม่เล่นบ่อย ก็ขอลองเล่นบ้าง โดยให้แม่ช่วยแนะว่าแถวไหน ช่องไหนที่น่าจะลองเติมตัวเลขให้ครบก่อน ซึ่งก็ใช้การคาดคะเนความน่าจะเป็นโดยพิจารณาจากตัวเลขอื่นๆที่วางในตาราง หลักหรือแถวเดียวกันควบคู่กันไป ยิ่งเติมตัวเลขลงไปมากเท่าไหร่ ความน่าจะเป็นที่จะใส่ตัวเลขที่เหลือลงในช่องที่ว่างอยู่ก็ยิ่งสูงขึ้น โดยมีเงื่อนไขเดียวคือ ตัวเลขในแต่ละแถวและหลักจะใช้ได้ครั้งเดียว รวมถึงในแต่ละขอบเขตตารางย่อยด้วย จากนั้นเป็นต้นมาลูกชายก็ฝึกเล่นเองบ้าง โดยที่แม่คอยเช็คความถูกต้อง แต่ยังคงเล่นในระดับที่ง่าย และยังไม่ซับซ้อน ผลก็คือลูกมีสมาธิดีขึ้น ใช้เวลาเล่นน้อยลง และก็เติมเลขผิดน้อยลงด้วย หากฝึกเล่นอีกสองถึงสามปี อาจสามารถยกระดับขึ้นมาเล่นความยากระดับปานกลาง และระดับที่ยากขึ้นต่อไปได้ 


เป้าหมายสูงสุดของแม่ที่พยายามให้ลูกฝึกเล่นเกมซูโดะกุก็คือ ต้องการฝึกให้ลูกมีสมาธิ ฝึกการใช้ตรรกะ พัฒนาสมองซีกซ้ายให้สามารถชั่งน้ำหนักเหตุและผล เพื่อหาคำตอบ และแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็นโจทย์ในบทเรียนหรือในชีวิต  นอกจากซูโดะกุแล้ว ก็ยังมีเกมอื่นๆอีกมากมายที่ช่วยฝึกสมองของลูก เช่น บอร์ดเกมต่างๆ(หมากรุก หมากฮอส ฯลฯ) เกมส์ไพ่ เกมส์เศรษฐี เกมเติมคำศัพท์(crossword) เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าคุณแม่ทุกคนช่วยฝึกสมองซีกซ้ายให้ลูกได้ด้วยการสนับสนุนให้ลูกเล่นเกมฝึกสมองแบบนี้


Happy Easter สุขสันต์เทศกาลอีสเตอร์ 2014

วันนี้เป็นวันหยุดวันแรกของเทศกาลอีสเตอร์ (Pääsiäinen) ของฟินแลนด์ ไม่ได้วางแผนทำอะไรเป็นพิเศษ ไม่มีการระบายสีไข่ ไม่ได้ปลูกหญ้า Rairuoho หรือปลูกดอก pääsiäisen narsissit และก็ไม่ได้ซื้อช็อคโกแล๊ตเพิ่ม เพราะหนึ่งตะกร้าที่เหลือจากปีที่แล้วก็ยังกินไม่หมด ไหนๆก็ได้หยุดงานตั้งสี่วันแล้ว ขอจัดบ้านแล้วก็นอนอ่านหนังสือเงียบๆดีกว่า
Mukavaa pääsiäistä kaikille !!!
 — feeling ขี้เกียจมากถึงมากที่สุด แต่สบายใจที่ซู้ด.