~ มีการย้ายการเรียนการสอนจากตึกฝั่งประถม มายังตึกฝั่งมัธยม (กรณีที่ยังเรียนรร.เดิม)
~ ระดับม.ต้นจะมีชั้นเรียนมากกว่าเดิม เพราะนักเรียนจากรร.ประถมหลายแห่งในเมือง ย้ายมาเรียนคละกันในรร.มัธยมที่มีเพียงไม่กี่แห่งในเมือง เช่น จากเดิมที่นักเรียนเคยเรียนในชั้นป.หกที่มีเพียงห้องเอ (6A)และห้องบี (6B) ปีนี้ระดับม.หนึ่งของรร.นี้มีถึงแปดห้อง (7A - 7H)
~ นักเรียนจะไม่นั่งเรียนอยู่แต่ในห้องของชั้นเรียนตัวเอง แต่จะเดินไปเรียนในห้องรายวิชาตามตารางเรียน ดังนั้นทางรร.จึงจัดล็อคเกอร์ส่วนตัวให้ทุกคนเก็บสัมภาระ นักเรียนจึงไม่ต้องแบกกระเป๋าและตำราเรียนทุกเล่มติดตัวตลอดเวลาเมื่อย้ายห้องเรียน
~ วิชาเรียนที่เพิ่มขึ้นมาจากหลักสูตรระดับประถม ได้แก่ วิชางานบ้าน (Kotitalous), วิชาสุขศึกษา (Terveystieto) , วิชาฟิสิกส์และเคมี (Fysiikka ja kemia) วิชาภาษาต่างประเทศ (A2- kieli) เพิ่มอีกหนึ่งภาษา (นอกเหนือจากภาษาฟินนิช, ภาษาอังกฤษ, ภาษาสวีดิช และภาษาไทย ที่เรียนมาอย่างต่อเนื่องแล้ว) รวมถึงวิชาเลือกเสรี (valinnaisaine) ที่มีให้เลือกอย่างมากมาย เช่น วิชาดนตรี, พละศึกษา, งานบ้าน, วาดเขียน, ภาษาสเปน, ภาษารัสเซีย, จิตวิทยา, งานเย็บปัก, คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
~ เนื่องจากมีวิชาใหม่ที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ตารางเรียนแน่นขึ้น การเรียนการสอนบางวันอาจมีถึงแปดชั่วโมง อีกทั้งหลายวิชามีเนื้อหาที่ยากขึ้น ผู้ปกครองจึงต้องทำความเข้าใจและดูแลเอาใจใส่การเรียนของลูก รวมทั้งสนับสนุนให้ลูกมีความรับผิดชอบต่องานกลุ่มและการบ้านที่เพิ่มขึ้นมาตามลำดับ
~ นักเรียนที่เรียนในระดับมัธยมต้นทุกคนจะต้องฝึกงานในสถานที่ทำงานจริงๆ ที่เรียกว่า TET (Työelämään tutustuminen) หนึ่งครั้งต่อปี ระยะเวลาแตกต่างกันไปตามระดับชั้น เช่น เกรดเจ็ดจะทำงานที่โรงครัวของโรงเรียนในเวลาเรียน ส่วนเกรดแปดและเก้านั้นจะต้องหาสถานที่ฝึกงานเอง โดยกำหนดให้ฝึกงานหนึ่งถึงสองอาทิตย์โดยไม่ต้องเข้าเรียน เพื่อเป็นการเรียนรู้ระบบการทำงานทั่วไป หรือทำความรู้จักกับอาชีพที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ เป็นต้น
~ และด้วยเหตุที่ว่ามีนักเรียนใหม่ที่ย้ายรร.มาเรียนในระดับมัธยมของรร.นี้เป็นจำนวนมาก วันเปิดเทอมวันแรกจึงมีการจัดปฐมนิเทศและกิจกรรมสันทนาการ จัดโดยกลุ่มพี่ๆอาสาฯจากชั้นเกรดแปดและเก้า เพื่อเป็นการต้อนรับนักเรียนใหม่ และเปิดโอกาสให้น้องใหม่ได้ทำความคุ้นเคยกับเพื่อนใหม่และสิ่งแวดล้อมใหม่ นอกจากนี้พี่ๆอาสาฯพวกนี้ยังจัดกลุ่มพึ่งพา (tukioppilas) แก่น้องๆที่ต้องการคำแนะนำด้านการเรียนหรือต้องการการแนะแนวต่างๆอีกด้วย
พอจบการอบรม ครูก็แบ่งผู้ปกครองเป็นกลุ่ม แล้วพาเดินเยี่ยมชมโรงเรียน เปิดห้องเรียนให้ดูทีละห้องและยังตอบข้อสงสัยของผู้ปกครองทุกคนให้หายข้องใจ พอได้เห็นสถานที่เรียนและทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนของลูกอย่างนี้แล้ว ผู้ปกครองอย่างเราก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมโรงเรียนที่ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือกันระหว่างบ้านและโรงเรียนเป็นอย่างมาก นี่คงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ระบบการจัดการด้านการศึกษาของฟินแลนด์มีคุณภาพและคงมาตรฐานระดับโลกได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น