วันก่อนได้มีโอกาสนั่งคุยกับเพื่อนใหม่เรื่องงาน น้องคนนี้เป็นแฟนบล็อคของเราด้วยล่ะ น้องเพิ่งย้ายมาอยู่ในฟินแลนด์ได้ไม่นาน จึงขอคำแนะนำหลายอย่างจากเรา แต่เราสามารถให้คำปรึกษาที่มาจากประสบการณ์ของเรา อ้างอิงจากสถานการณ์ของเราเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องงานนั้น ประสบการณ์ของเราค่อนข้างจะแตกต่างจากคนอื่น (อย่างน้อยก็ในแวดวงเพื่อนฝูงที่เคยพบปะกัน) กระนั้นก็หวังว่าคำตอบที่ให้น้องเค้าไปจะมีประโยชน์กับเค้าไม่มากก็น้อย และวันนี้ก็อยากนำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง ถือเป็นการแบ่งปัน ให้ข้อคิด และปรับทุกข์ไปในตัว
เราเป็นคนเหนือ เกิดและเติบโตที่จังหวัดเชียงใหม่ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานที่เคยทำจะแวดล้อมไปด้วยชาวต่างชาติและเนื้องานเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น เป็นผู้ช่วยครูฝรั่งสอนคลาสเด็ก โอเปอเรเตอร์+คีย์ข้อมูลบริษัทรับทำบิลจากอเมริกา ผู้จัดการออฟฟิศโบรคเกอร์ขายประกันภัยแก่ชาวต่างชาติ เป็นล่ามส่วนตัวของเจ้าของโรงปุ๋ยชาวสวิสฯ และทำงานฟรีแลนซ์แปลงานส่งบริษัทต่างชาติก่อนที่จะแต่งงานและย้ายตามครอบครัวมาอยู่ต่างแดน
เมื่อย้ายมาฟินแลนด์ เรารู้ในทันทีว่าไม่มีอาชีพใดรองรับความรู้ความสามารถจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของเรา และวุฒิการศึกษาที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะเริ่มต้นชีวิตการทำงานในประเทศนี้ เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเรียนภาษาใหม่เพื่อที่จะสามารถสื่อสารและพึ่งพาตัวเองได้ในชีวิตประจำวันก่อน และหวังว่าจะสามารถพัฒนาจนสามารถนำไปใช้ในชีวิตการทำงานต่อไป
ดังนั้น เมื่อห้าปีก่อน (กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 2012) เราจึงเริ่มเรียนภาษาคอร์สแรกที่จัดหาโดยสำนักงานจัดหางานและพัฒนาเศรษฐกิจ ( TE / Työ-ja Elinkeinotoimisto )หรือที่ใครๆเรียกว่า "เตื้อ" คอร์สนี้มีชื่อว่า Työelämän Suomea มีจุดมุ่งหมายเพื่อ เตรียมผู้ที่ย้ายถิ่นฐานอย่างเราให้พร้อมในการปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยในประเทศฟินแลนด์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้พร้อมสำหรับตลาดแรงงาน การเรียนการสอนแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะเน้นเรียนภาษาฟินนิช (ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน)โดยมีการสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับประเทศฟินแลนด์เข้ามาด้วย และอีกส่วนที่จะได้เรียนในช่วงท้ายแน่นอนคือข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตการทำงานในประเทศฟินแลนด์ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ (กำหนดให้มีการฝึกงานในสถานที่จริง) และแล้วเราก็เรียนจบคอร์สนี้ภายในหนึ่งปี ก่อนที่จะจบการศึกษานักเรียนทุกคนจะได้รับคำปรึกษาจากอาจารย์ผู้สอนแบบตัวต่อตัว เพื่อวางแผนการศึกษาหลังจากนี้ โดยอ้างอิงจากพัฒนาการทางด้านต่างๆของนักเรียนแต่ละคน (HOPS - henkilökohtainen opintosuunnitelma) มีเพื่อนหลายคนที่จำเป็นต้องเรียนภาษาเพิ่มเติม หลายคนต้องการเตรียมตัวเพื่อเรียนต่อสายอาชีพ แต่ตัวเราเองเมื่อจบแล้ว เราเลือกที่จะหางานทำ ไม่เรียนต่อ เพราะเรามีความจำเป็น มีเหตุผลส่วนตัวที่ต้องการรายได้ อีกอย่างหนึ่งคือ เราเชื่อมั่นว่ามีความสามารถมากพอที่จะได้รับคัดเลือกเข้าทำงานที่เราสนใจในขณะนั้น ซึ่งก็คือ พนักงานร้านขายยาหรือผู้ช่วยเภสัชกร (Lääketeknikko) และเราก็มีความกล้าพอที่จะเข้าไปของานจากนายจ้าง เราไม่เคยขอความช่วยเหลือจากใครแม้แต่สามีของเรา ทุกอย่างเราทำเอง หาข้อมูล สอบถาม และช่วยเหลือตัวเองทุกขั้นตอน
ตั้งแต่วันแรกที่เดินเข้าไปขอฝึกงานในร้านขายยา(apteekki)ใกล้บ้าน
จนถึงวันนี้ก็เกือบสี่ปีแล้ว หลายคนอาจไม่รู้ว่าเราทำอะไรมาบ้างและก็ผ่านอะไรมาบ้าง เพราะเราเองก็ไม่เคยเล่าชีวิตการทำงานในต่างแดนให้ใครฟังโดยละเอียด ใครถามก็จะเล่าให้ฟังคร่าวๆเท่านั้น ช่วงแรกๆที่มาฝึกงานเราไม่คิดอะไรมาก นอกจากมุ่งมั่นที่จะทำงานหารายได้ จุดประสงค์หลักคืองานประจำ ดังนั้นไม่ว่าจะต้องฝึกหรือเรียนรู้อะไร เราตั้งใจทำเต็มร้อยและก็ทำทุกอย่างที่ทำได้ มีความประพฤติดี ซื่อสัตย์ ขยันและอดทน ผลก็คือ เมื่อผ่านการฝึกงานรวมหกเดือน เราได้ทำสัญญาทำงานช่วงฤดูร้อนฉบับแรกเป็นเวลาหนึ่งเดือน และเมื่อพิสูจน์ตัวเองได้ว่าไม่เคยเกี่ยงงาน จึงได้รับการต่อสัญญาทำงานประจำแทนแม่บ้านที่กำลังจะเกษียณ นั่นหมายถึง ต้องทำสองหน้าที่ หน้าที่หลักคือทำความสะอาดและหน้าที่รองคือทำงานผู้ช่วยเภสัชฯอย่างที่ได้รับการฝึกฝน
ลึกๆแล้วเรารู้ตัวว่าไม่ชอบงานประเภทแรก แต่ในเมื่อมันเป็นงานประจำ สัญญาไม่มีวันหมดอายุ บวกกับสวัสดิการต่างๆที่จะได้รับเท่าเทียมกับพนักงานคนอื่นๆ นี่ไม่ใช่หรือที่เป็นจุดประสงค์หลักของเรา เมื่อเราได้รับข้อเสนอดีๆทั้งๆที่ไม่มีวุฒิการศึกษาจากสาขานี้มารองรับ แล้วเราจะไม่คว้าโอกาสนี้ไว้เลยเหรอ
และแล้วเวลาก็ผ่านไปจากเดือนเป็นปี เราค่อยๆปรับตัวกับงาน สถานที่ทำงาน รวมทั้งเพื่อนร่วมงาน ตัวงานและสถานที่ยังไม่ยากเท่าไหร่ บุคคลที่เราต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันคลุกคลีและมีปฏิสัมพันธ์ด้วยนี่แหละ นับเป็นด่านที่ทรหดเชียวละ ขณะที่เรายังฟังภาษาพูดไม่ค่อยเข้าใจ สื่อสารยังไม่คล่อง ยังไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมการทำงานของคนที่นี่ เพื่อนร่วมงานแต่ละคนนิสัยใจคอเป็นยังไง พื้นเพมาจากไหน พูดช้า-เร็วต่างกัน เมื่อเค้าพูดภาษาท้องถิ่นของเค้าแล้วมันหมายความว่าอะไร นิสัยการทำงานของแต่ละคนเป็นยังไง มีความสนใจอะไร ควรระวังเรื่องอะไร และหัวข้ออะไรที่ไม่ควรพูด รายละเอียดมันปลีกย่อยมาก ตอนนั้นเข้าใจความรู้สึกของการเป็นคนนอกได้ดีทีเดียว เข้าใจเลยว่าการพยายามสื่อสารผูกมิตรที่รู้สึกว่าล้มเหลวหลายต่อหลายครั้งเพราะบางคนไม่มีความอดทนมากพอที่จะเข้าใจเรา หรือแย่กว่านั้นหากเราพูดหรือทำอะไรแล้วเค้าเข้าใจผิด แต่เราไม่สามารถอธิบายตัวเองได้ สถานการณ์แบบนี้มันทำให้เรารู้สึกโง่และอึดอัด เหมือนเด็กวัยอนุบาลที่นั่งหัวโด่กลางบทสนทนาของผู้ใหญ่ ไม่เข้าใจ พูดไม่คล่อง และไม่มีใครสนใจ ช่วงพักกลางวันจึงเป็นเวลาที่เราอึดอัดมากที่สุด วันแล้ววันเล่าเราอดทน เก็บความรู้สึกอัดอั้นท้อใจไว้ในใจ แล้วพูดกับตัวเองว่า ''ฉันยังไหว ฉันไม่ใช่คนโง่เพียงแต่ยังเด็ก สักวันหนึ่งฉันจะโตพอที่จะคุยกับผู้ใหญ่พวกนี้ให้ได้'' แต่รู้มั๊ย เราไม่เคยหลบหรือหนี แม้จะท้อใจแต่ไม่เคยท้อถอย เราตั้งใจทำงานทุกวัน หากมีกิจกรรมนอกเวลางานเราจะเสนอหน้าเข้าร่วมทุกครั้ง แม้จะนั่งอยู่นอกวงสนทนาและไม่เคยมีบทสนทนายาวๆกับใครแต่เราพยายามแสดงให้พวกเค้ารู้ว่า ตรงนี้ยังมีอีกคนที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของทีม เมื่อเวลาผ่านไปเด็กอนุบาลตัวน้อย ค่อยๆเติบโตเป็นเด็กวัยประถม พูดได้คล่องขึ้นทีละนิด และก็เติบโตอย่างช้าๆไปพร้อมๆกับการได้รับการเปิดใจยอมรับจากเพื่อนร่วมงานทุกคน แม้ขณะนี้จะยังไม่ใช่ผู้ใหญ่เต็มตัว ยังพูดสนทนาไม่ได้อย่างพวกเค้า แต่เวลาได้พิสูจน์แล้วว่า 'ฉันไม่ใช่คนโง่' และวันนี้เองที่เราขอบคุณตัวเองที่ไม่เคยย่อท้อ
สองปีแรกเราทำงานเต็มเวลาวันละแปดชั่งโมง สัปดาห์ละห้าวัน สลับกับผู้ช่วยฯคนอื่นทำงานวันเสาร์คนละหนึ่งวันเดือนละหนึ่งครั้ง แต่ช่วงหลังๆเรารู้สึกอิ่มตัวกับงาน จึงขอทำงานแค่วันละหกชั่วโมงเท่านั้น (ปัจจุบันเวลางาน 7.30 - 13.30) แต่สามารถยืดหยุ่นได้หากมีความจำเป็น หน้าที่ในแต่ละวันของเรามีดังนี้
- งานทำความสะอาดจะใช้เวลาประมาณ 3-4ชั่วโมง ปัด กวาด เช็ด ถู ดูดฝุ่น ถูพื้น ล้างห้องน้ำ ทิ้งขยะ ซัก-รีดชุดยูนิฟอร์ม เช็ดกระจก เช็ดทำความสะอาดชั้นวางสินค้า และอีกมากมาย สรุปคือ ดูแลทำความสะอาดพื้นที่ทุกซอกมุมของร้านขายยา ทั้งชั้นบน(ส่วนที่รับลูกค้า) และชั้นล่าง(ส่วนพนักงานและห้องเก็บของ) หน้าที่ส่วนนี้สามารถจัดสรรได้โดยการจัดระดับความสำคัญ เช่นอะไรที่ต้องทำทุกวัน อะไรที่เก็บไว้ทำเพียงสัปดาห์ละครั้ง เดือนละครั้ง หรือตามฤดูกาล และอะไรที่ต้องหมั่นเช็คแล้วทำเมื่อจำเป็น นายจ้างให้อิสระในการตัดสินใจเต็มที่ และไม่มีใครคอยควบคุม
- จากนั้นชั่วโมงที่เหลือของวันเราจึงทำงานส่วนอื่นๆ เช่น แคชเชียร์ รับ-ตรวจเช็ค-และขึ้นทะเบียนยาที่ส่งมาจากโกดัง จัดวางสินค้าเข้าชั้น และบางครั้งนำยาไปส่งลูกค้านอกสถานที่ ข้อสังเกต: ผู้ช่วยเภสัชกรจะไม่สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยาแก่ลูกค้าแต่อย่างใด เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องยา เภสัชกรเท่านั้นที่สามารถให้คำปรึกษาเรื่องยาได้
หลายคนอาจคิดว่างานนี้ดูไม่ยาก ก็ทำความสะอาดใช้เวลาไปเกือบครึ่งวันแล้วนี่นาและแทบไม่ต้องพูดกับใคร และไม่ต้องสื่อสารกับลูกค้าเลย ภาษาคงไม่จำเป็นล่ะมั๊ง ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะโดยปกติแล้วภาษาที่ใช้ในชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะอาชีพไหนนั้น นอกจากจะใช้สื่อสารในสถานที่ทำงาน เช่น สื่อสารกับลูกค้า สนทนากับเพื่อนร่วมงาน หรือติดต่อสื่อสารกับพนักงานจากส่วนนอก ทั้งแบบพูดและเขียนแล้ว ยังรวมถึงต้องสามารถเข้าใจข้อความต่างๆและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานต่างๆ เช่น ชื่อเครื่องมือ อุปกรณ์ สินค้า ข้อบังคับ ป้ายเตือน คู่มือ ตำรา จดหมายจากราชการ หนังสือสัญญา หนังสือแจ้งเตือน คำอธิบายเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายแรงงาน สิทธิและหน้าที่ของผู้เสียภาษี เป็นต้น เอกสารหลายฉบับเป็นฉบับภาษาฟินนิชเท่านั้น เพียงมีระดับความยาก-ง่ายแตกต่างกันไปตามสาขาอาชีพ แล้วอย่างนี้แล้ว ยังคิดว่าภาษาไม่จำเป็นในการทำงานอีกหรือ แล้วหากมีข้อสงสัย คำถาม ข้อขัดแย้ง หรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในที่ทำงานขึ้นมา คุณจะขอความช่วยเหลือจากใครถ้าคุณไม่สามารถสื่อสารด้วยตัวคุณเอง
และหลายคนอาจสงสัยอีกเช่นกันว่า เราทำหน้าที่มากมายอย่างนี้แล้วเงินเดือนที่ได้มันเหมาะสมกับงานไม่เนี่ย บอกไว้เลยว่าเราได้เงินเรทเดียวกับพนักงานทำความสะอาดทั่วไป (ตามสัญญาที่ระบุใน TES) และได้เพิ่มขึ้นทุกปีตามอายุการทำงาน ซึ่งก็ไม่มากมายอะไร หลักหักภาษี(ราวๆ 10 %)และค่าสวัสดิการอื่นๆแล้วรายได้สุทธิเท่ากับหนึ่งพันยูโรนิดๆ(สัปดาห์ละห้าวัน วันละ 6 ชั่วโมง/เดือนละ 120 ชั่วโมง) จึงไม่แปลกที่เพื่อนหลายคนมีความเห็นไม่ดีงามต่องานนี้ อ้าว ก็แล้วทำไมไม่ขอเพิ่มตามระดับความยากของเนื้องานล่ะ แต่โปรดสังเกตว่า เราได้สัญญาทำงานนี้มาจากตำแหน่งพนักงานทำความสะอาดที่ว่างลง ดังนั้นหน้าที่และความรับผิดชอบหลักของเราก็ต้องเป็นส่วนที่เกี่ยวกับความสะอาด หน้าที่รองนั้นเพียงเพิ่มขึ้นมาด้วยความยินยอมและเห็นพ้องระหว่างเรากับนายจ้าง หากวันใดที่มีความสามารถเทียบเท่าผู้ช่วยคนอื่นๆ เราอาจได้รับโอกาสให้เปลี่ยนตำแหน่ง อย่างไรก็ตามหน้าที่ความรับผิดชอบและรายได้เท่านี้สำหรับเรามันค่อนข้างเพียงพอ เพราะเราไม่มีภาระทางการเงิน ไม่มีค่าเดินทาง(ที่ทำงานห่างจากที่พักประมาณ 300 เมตร จึงเดินไปทำงานทุกวัน) ไม่มีรายจ่ายฟุ่มเฟือย ไม่มีค่ารักษาพยาบาลเพราะใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลฟรีจากนายจ้าง ที่ผ่านมาเราไม่เคยเดือดร้อนและไม่เคยหยิบยืมเงินจากใคร แถมยังสามารถแบ่งรายได้ 25% ของทุกเดือนออมเก็บในบัญชีเงินฝากเพื่ออนาคตอีกด้วย นอกจากนี้
สี่ปีที่ผ่านมาด้วยรายได้เท่านี้ เราสามารถรวบรวมนำมาปลดหนี้บัตรเครดิตของตัวเองที่มีหนี้ค้างเกือบแสนบาทภายในสี่เดือน ยื่นเอกสารขอสัญชาติฟินแลนด์แก่ตัวเองและลูกชาย เชิญคุณแม่เดินทางมาท่องเที่ยว และเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัวในต่างประเทศทุกปี
อ้อ ในเมื่อพูดเรื่องเงิน เราก็อยากฝากบอกหลายๆคนด้วยว่า โปรดอย่าดูถูกงาน ไม่ว่าจะอาชีพไหน ตำแหน่งใด สัญญาระยะสั้นหรือยาว งานก็คือแหล่งรายได้ที่คนทำควรภาคภูมิใจ และก็ภาษีจากเงินรายได้ของคนทำงานที่ส่วนหนึ่งถูกหักออกไปทุกเดือนนี่แหละ ที่รัฐแบ่งไปใช้เป็นเงินสวัสดิการแก่ผู้ที่ยังไม่มีรายได้ ซึ่งรวมถึงคนที่กำลังเรียนอยู่ หรือคนที่ว่างงานนั่นล่ะ
ดังนั้น ใครก็ตามที่พึ่งพิงเงินช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม หรือ'เกล่า'อยูนั้นควรทำความเข้าใจเสียใหม่ ว่าแม้ฟินแลนด์จะเสนอเงินช่วยเหลือแก่ผู้ย้ายถิ่นฐานที่มาอยู่ใหม่ แต่ก็จำเป็นจะต้องมีข้อจำกัดเพื่อถ่วงระบบให้สมดุล เพื่อที่ว่าสัดส่วนของผู้ใช้แรงงานควรจะมีมากกว่าผู้ที่ว่างงาน เหตุเพราะรัฐสวัสดิการอย่างประเทศฟินแลนด์นั้น พัฒนาเจริญก้าวหน้ามาได้ด้วยการนำเงินภาษีมาพัฒนาประเทศ และภาษีส่วนใหญ่ที่รัฐเก็บจากประชาชนก็คือภาษีรายได้ นั่นก็หมายความว่า คนทำงานนี่แหละที่เป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า (เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้วเราอาจจะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน) หากคิดกลับกันว่า ถ้าสัดส่วนของประชากรผู้ใช้แรงงานน้อยกว่าประชากรที่รอการช่วยเหลือจากรัฐแล้ว รัฐจะเก็บเงินสวัสดิการต่างๆจากใคร และจะส่งผลให้มีข้อจำกัดความช่วยเหลือตามมาอย่างไร แล้วในที่สุดประเทศจะต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นไร จะยังพัฒนาหรือถดถอย ดังนั้นสรุปว่า เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้"รับ"เงินช่วยเหลือตามสมควรจากรัฐ แต่ควรพึงระลึกอยู่เสมอว่า เมื่อถึงเวลาที่เรามีความสามารถเพียงพอ เราก็ควร"ให้"กลับคืนแก่รัฐเพื่อที่จะได้นำไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว บางคนอาจจะมองต่างมุม อาจแย้งว่า 'จะไม่ดีกว่าเหรอหากเราขวนขวายเรียนสายอาชีพเพื่อหางานที่ดีกว่านี้ เพื่อที่จะไม่ต้องทำความสะอาด เพื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อประกอบอาชีพที่สามารถยืดอกภูมิใจ โอ้อวดกับใครๆได้ว่าฉันมีความรู้และมีงานทำ' และแน่นอนว่าใครๆก็อยากทำงานที่ตัวเองรัก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่ทำได้ ตัวเราเองยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ยังไม่รู้ ยังนึกไม่ออกว่าเราอยากทำอะไร ชอบอะไร และอาชีพไหนที่เหมาะกับเรา เรามีเพียงจุดหมายเดียวในชีวิตซึ่งก็คือ "วันนี้ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะทำให้ดีที่สุด" เพราะสิ่งที่เราทำในวันนี้มันคือสิ่งที่เราจะเหลียวกลับมาดูในวันพรุ่งนี้ และอีกครั้งในวันถัดไปและต่อไปในอนาคต เราใช้มันเป็นกำลังใจเพื่อก้าวเดินต่อไปข้างหน้า แม้บางวันรู้สึกท้อจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ หรือก็มีหลายครั้งที่สุขใจจนอยากตะโกนดังๆ แต่ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ที่หล่อหลอมให้เราเป็นเราในวันนี้ คือประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำใครและหาซื้อที่ไหนไม่ได้ และมันคือบทเรียนที่เราได้มาจากหยาดเหงื่อและน้ำตา
เรารู้ตัวดีว่าเงินเดือนที่ได้รับไม่มาก หน้าที่การงานก็ไม่ได้เริ่ดหรู อวดชาวบ้านได้ และที่สำคัญเราไม่ได้เรียนสายอาชีพอะไรเพิ่มเติม ไม่มีวุฒิจากเมืองนอกที่จะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจแต่อย่างใด ดังนั้นก็ไม่แปลกที่หลายคนอาจดูถูกงานที่เราทำ แต่เราอยากบอกว่าที่ชีวิตเราได้เดินมาถึงจุดนี้ ทุกก้าวเป็นก้าวที่เราภูมิใจ สิ่งที่เราเรียกว่าความสำเร็จมันไม่ใช่แค่วุฒิการศึกษา ใบปริญญา หรือตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่มันคือบทเรียนจากประสบการณ์ล้วนๆ หากวันใดที่เราไม่ทำงานนี้แล้ว ท้ายที่สุดสิ่งที่เราจะได้รับอาจเป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียวที่เรียกว่าใบรับรองการทำงาน ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะเขียนว่าอะไร แต่เราเชื่อว่าบทเรียน มิตรภาพที่ถือกำเนิดขึ้น และความทรงจำมากมายที่ไม่อาจบรรจุอยู่ในกระดาษแผ่นนั้นมันเหนือกว่าคำบรรยายใดๆ และมีค่ามากว่าใบจบการศึกษาหรือตัวเลขในบัญชีหลายเท่าตัว ขอบคุณที่อ่านจนจบค่ะ