วันจันทร์, ตุลาคม 10, 2559

YKI TEST ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถ

มีเสียงเรียกร้องอยู่หลายเสียงจากเพื่อนๆ และมีแฟนบล็อคท่านหนึ่งขอให้ช่วยแนะนำการเตรียมสอบ YKI TEST ที่หลายคนไม่มั่นใจที่จะลงสอบ หรือบางคนก็กังวลมาก กลัวว่าจะยากเกินไป ไหนจะหาตำราและเอกสารเตรียมสอบยากยิ่งกว่างมเข็มบ้างล่ะ แล้วไหนจะต้องปรับหูปรับลิ้นให้เจ้าของภาษาเข้าใจเราให้มากที่สุดอีกล่ะ ในฐานะที่เราก็เคยเตรียมสอบมาก่อน และก็สอบผ่านแล้ว จึงขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับแนวข้อสอบ YKI TEST และการเตรียมตัวสอบไว้ตรงนี้ให้มากเท่าที่ตัวเองจำได้

                  


ก่อนอื่นมารู้จักเจ้าข้อสอบนี้ก่อนว่ามันคืออะไร
YKI (Yleiset Kielitutkinnot) คือ ข้อสอบมาตรฐานที่จัดทำมาเพื่อวัดระดับความสามารถทางภาษา ซึ่งดำเนินการจัดสอบและตรวจสอบโดยมหาวิทยาลัยยึแวสกึแหละ (University of Jyväskylä)และรับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการของประเทศฟินแลนด์ (Finnish Ministry of Education) ดังนั้นจึงจัดสอบภายในประเทศเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศฟินแลนด์จะเข้าใจว่า YKI TEST คือ ข้อสอบที่วัดระดับภาษาฟินนิช และเมื่อสอบผ่านระดับกลาง (Keskitaso) คือได้คะแนนระหว่าง 3 - 4 ในสี่ส่วน คือการฟัง พูด อ่าน และเขียน ก็สามารถใช้ใบรับรองที่แสดงผลสอบนี้ยื่นประกอบเอกสารการขอสัญชาติฟินแลนด์ (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ 
Opetushallitus - Kielitaidon osoittaminen kansalaisuutta haettaessa และนอกจากจะมีข้อสอบวัดระดับความสามารถภาษาฟินนิชแล้ว YKI TEST ยังสามารถใช้วัดความสามารถทางภาษาอื่นๆด้วย ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาอิตาเลี่ยน ภาษารัสเซีย ภาษาซามิ ภาษาสเปน และภาษาสวีดิช จุดประสงค์ของการสอบวัดระดับภาษาพวกนี้หลักๆ เพื่อนำผลการสอบใช้เป็นหลักฐานแสดงความสามารถด้านภาษานั้นๆทั้งในส่วนวิชาชีพ การเรียนการศึกษา การสมัครงาน และการขอสัญชาติฟินแลนด์
(เฉพาะผลสอบภาษาฟินนิชและภาษาสวีดิช)ดังกล่าวตอนต้น


จากประสบการณ์การเตรียมสอบวัดความสามารถทางภาษาส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะ YKI, TOEFL หรือ TOEIC โดยรวมแล้วแบ่งเป็นสองส่วนคือ การเตรียมเนื้อหา และการเตรียมตัวตามโครงสร้างข้อสอบ


การเตรียมเนื้อหา หมายถึง วัดความสามารถของการใช้ภาษาของเรา ความรู้ด้านไวยกรณ์แน่นรึยัง รู้คำศัพท์เพียงพอรึไม่ บอกเล่าเรื่องราวหรืออธิบายตัวเองได้ดีแค่ไหน ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองให้ได้ทั้งสี่ทักษะ (ฟัง พูด อ่าน เขียน) แล้วเสริมในส่วนที่ต้องเสริม แต่อย่าหยุดพัฒนาส่วนที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก และที่สำคัญเตรียมคำตอบใหกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตทั้งในชีวิตประจำวัน หรือกรณีฉุกเฉิน เช่น ก็อกน้ำรั่ว เห็นคนเดินลัดคิว พบเจออุบัติเหตุ กระเป๋าหรือมือถือหาย เราจะรับมือกับสถานการณ์พวกนี้ได้อย่างไร เป็นต้น รวมทั้งฝึกการสื่อสารด้านอื่นๆ เช่นการโต้ตอบทางอีเมล์ เขียนโปสการ์ดหรือจดหมาย หรือบทเขียนแสดงทัศนคติ เป็นต้น

ส่วนการเตรียมตัวตามโครงสร้าง คือ เตรียมตัวสอบตามโครงสร้างของข้อสอบ เช่น
ข้อสอบมีอยู่สี่ส่วน(สี่พาร์ท) หากจำไม่ผิดจะเริ่มจากพาร์ทการอ่าน (Tekstin ymmärtäminen) กำหนดให้อ่านบทความหัวข้อหลากหลายและมีความสั้นยาวแตกต่างกัน ระหว่าง 3-6 บทความ ควรศึกษาก่อนว่าพาร์ทนี้มีกำหนดเวลาทำข้อสอบทั้งหมดกี่นาที ควรใช้เวลาอ่านเฉลี่ยตอนละกี่นาทีและตอบคำถามกี่นาที และควรเผื่อเวลาตรวจแก้คำตอบในตอนท้ายกี่นาที
** ไม่จำเป็นต้องรู้ศัพท์ทุกคำ เพียงอ่านบทความแล้วสามารถหาคำ key words หรือคำใบ้ที่บอกใจความสำคัญหรือใจความหลักในแต่ละย่อหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะกล่าวถึงซ้ำๆ ก็จะสามารถจับประเด็นเรื่องราวที่ย่อหน้านั้นต้องการสื่อสารแล้ว หากต้องการทำข้อสอบให้ไวที่สุด ควรอ่านชื่อเรื่องเป็นอย่างแรก(หากมี) 
แล้วกวาดตาอ่านทั้งบทความหนึ่งรอบเพื่อตอบคำถามคร่าวๆว่าบทความนี้เกี่ยวกับอะไร ซึ่งส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับชื่อเรื่อง จากนั้นอ่านคำถามและพิจารณาตัวเลือกที่ให้มา แล้วกลับไปอ่านประโยคแรกของแต่ละย่อหน้า วิธีนี้ทำให้สามารถเดาได้ว่าจะพบคำตอบได้จากย่อหน้าใด ไม่เช่นนั้นก็สามารถกวาดตาหาคำตอบได้จากย่อหน้าใกล้เคียง เป็นต้น เมื่อได้คำตอบแล้วก็อ่านคำถามข้อต่อไป หากไม่แน่ใจให้เลือกคำตอบที่เดาว่าถูกที่สุดไปก่อน แล้วกลับมาทำอีกครั้งหากยังเหลือเวลา อย่างไรก็ตาม หมั่นเช็คเวลาขณะทำข้อสอบและอย่าลืมเผื่อเวลาตรวจทานก่อนส่งกระดาษข้อสอบ

จากนั้นจะต่อด้วยพาร์ทการเขียน (Kirjoittaminen) เท่าที่จำได้จะแบ่งเป็นสองหรือสามหัวข้อหลัก ข้อแรกจะระบุสถานการณ์มาให้และสั่งให้เราเขียนจดหมาย หรืออีเมล์ ถึงบุคคลนี้ในสถานการณ์แบบนี้ เราจะใช้ฟอร์มไหนและเขียนอธิบายอย่างไร และอีกหัวข้อหนึ่งมีโจทย์หรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และต้องการให้เราเขียนเรียงความแสดงทัศนคติของเราต่อโจทย์ที่ให้มา กำหนดเวลาทำข้อสอบพาร์ทเขียนทั้งหมดไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ภายในเวลาที่กำหนดนี้ ก่อนอื่นควรตัดสินใจเลือกข้อเขียนหัวข้อใดที่ถนัดที่สุดก่อน แล้วเผื่อเวลาระดมความคิดและวางแผนโครงสร้างก่อนที่จะเริ่มเขียน และอย่าลืมตรวจทานการสะกดคำ และนับจำนวนคำอีกสักนิด
(หากจำไม่ผิดข้อสอบการเขียนโดยเฉพาะเรียงความแสดงความคิดเห็นจะมีข้อกำหนดจำนวนคำอยู่ด้วย เช่น ต้องเขียนไม่ต่ำกว่า 200 คำ)
**อย่าลืมโครงสร้างเรียงความที่ต้องมีอย่างน้อยสามย่อหน้า ได้แก่ส่วนคำนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนสรุป แม้ว่าส่วนเนื้อเรื่องจะสามารถแยกได้เป็นหลายย่อหน้า แต่ควรระบุใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้าอย่างชัดเจนซึ่งส่วนใหญ่เขียนเป็นประโยคแรกของย่อหน้า และเมื่อมีใจความหลักแล้วก็ควรเขียนสนับสนุนใจความหลักให้เหตุผลสอดคล้องกัน อย่าลืมการใช้เครื่องหมายวรรคตอนอย่างถูกต้อง ส่วนการแต่งประโยคนั้นหากไม่มั่นใจเกี่ยวกับไวยกรณ์ หรือคำศัพท์ แนะนำให้เขียนประโยคง่ายแต่ตรงประเด็น ดีกว่าการใช้ประโยคที่ซับซ้อนหรือใช้คำศัพท์ที่อาจไม่เกี่ยวเนื่องกับใจความหลัก นอกจากนี้ควรเขียนเรียงความให้ยาวที่สุดเท่าที่เวลาจะอำนวย เพราะทุกคำทุกประโยคที่นำมาเรียบเรียงเขียนตอบสามารถเรียกคะแนนได้ไม่มากก็น้อย

เมื่อสอบพาร์ทเขียนแล้ว ผู้เข้าสอบจะได้พักครู่ใหญ่เพื่อทานอาหารว่างที่เตรียมไปเอง หรือเข้าห้องน้ำ

จากนั้นจะย้ายห้องสอบไปยังห้องสตูดิโอ เพื่อเริ่มสอบพาร์ทการฟัง (Puheen ymmärtäminen) เจ้าหน้าที่จะจัดให้ผู้สอบหนึ่งคนนั่งโต๊ะที่มีคอมพิวเตอร์หนึ่งตัวต่อเข้ากับ headset ซึ่งเราจะสอบพาร์ทฟังและพูดในห้องนี้ เริ่มจากพาร์ทฟังที่เราฟังคำสนทนา ประกาศต่างๆ แล้วตามด้วยคำถามจากหูฟัง ผู้สอบจะเขียนตอบลงบนกระดาษคำตอบของตัวเอง ส่วนตัวคิดว่าพาร์ทนี้ง่ายที่สุด เพราะไม่ต้องบริหารเวลาด้วยตัวเอง สคริปท์จะรันไปเองเรื่อยๆ แล้วจึงหยุดให้เราเขียนตอบ เราสามารถจดโน้ตลงบนกระดาษเปล่าที่เจ้าหน้าที่ให้มาได้ แต่เราเองก็ต้องมีสมาธิจดจ่อกับบทสนทนาที่เรากำลังฟังด้วยและควรฝึกจดโน้ตให้เร็วแต่เข้าใจง่ายที่สุด

และก็มาถึงพาร์ทที่ส่วนตัวคิดว่ายากที่สุด แต่ใช้เวลาน้อยที่สุด นั่นคือพาร์ทการพูด (Puhuminen) หลังจากพาร์ทการฟังสิ้นสุดลงผู้เข้าสอบจะยังสวมหูฟังอยู่และต้องจัดตำแหน่งไมโครโฟนให้ถูกต้อง เพื่อที่จะสามารถพูดเพื่ออัดเสียงลงในไมโครโฟนได้อย่างถนัด และเมื่อได้ยินโจทย์จากหูฟังหรือได้อ่านคำถามบนจอคอมพิวเตอร์แล้ว จะได้รับเวลาชั่วครู่เพื่อเตรียมคำตอบก่อนที่จะพูดตอบลงในไมโครโฟน โจทย์มีประมาณ 2-4 ข้อที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น จองเวลาตัดผม นัดหมอ สนทนากับเพื่อน หรือสมมติสถานการณ์หลายๆสถานการณ์แล้วให้เราพูดโต้ตอบกับเทปจากคอมพิวเตอร์ ช่วงที่เตรียมคำตอบสามารถเขียนแนวทางคำตอบลงไปบนกระดาษเปล่าก็ได้ แต่ต้องนึกคำตอบให้เร็วเพราะ มีเวลาเตรียมตัวไม่มาก 
(สามสิบวินาทีถึงสองนาทีแล้วแต่ความยากง่ายของคำถามและความยาวของคำตอบที่กำหนดให้พูด) เช่น ให้เหตุการณ์สมมุติมาว่า "คุณเพิ่งเดินทางกลับมาถึงสนามบินเฮลซิงกิ-วันตา แต่ปรากฎว่ากระเป๋าเดินทางของคุณหาย คุณจะแจ้งเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินเกี่ยวกับกระเป๋าที่หายอย่างไร" ให้เวลาเตรียมตัวสามสิบวินาที และให้เวลาพูดตอบภายในหนึ่งนาที เป็นต้น เมื่อคำสั่งให้เริ่มพูด เราต้องพูดลงในไมโครโฟนที่ติดอยู่กับ headset คอมพิวเตอร์ก็จะเริ่มจับเวลาและทำการอัดเสียงของเราและเซฟเก็บเอาไว้เพื่อส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจข้อสอบ
**ขณะที่สอบพูด ต้องแน่ใจว่าพูดชัด เสียงไม่ดังหรือเบาเกินไป และต้องมีสมาธิอย่างมากเพราะผู้สอบทั้งห้องจะเริ่มพูดพร้อมกัน แม้จะมีส่วนกั้นระหว่างโต๊ะคอมพ์และผู้เข้าสอบแต่ละคนสวมหูฟังอยู่ แต่ก็ยังได้ยินเสียงคนอื่นพูด โดยเฉพาะคนข้างๆที่จะชัดมากเป็นพิเศษ ต้องตั้งสติให้ดี)นอกจากนี้พยายามพูดให้ครบเวลาที่ให้มาแม้ว่าจะตอบคำถามจบไปแล้วก็ตาม พูดสนับสนุนคำตอบหรือเพิ่มเติมอะไรก็ได้ที่ไม่เรื่อยเปื่อยเพราะทุกอย่างนับเป็นคะแนนทั้งนั้น 
(และพยายามใช้เวลาให้ครบ ไม่ขาดและอย่าให้เกิน) การเตรียมตัวในพาร์ทนี้สามารถลองอัดเสียงตัวเองโดยใช้หูฟังต่อกับไมโครโฟนเพื่อทำความคุ้นเคยกับการอุปกรณ์ที่ใช้ในสตูดิโอ และลองปรับน้ำหนักเสียงของตัวเองขณะที่พูดให้ดัง ฟังชัดและพูดลงจังหวะให้พอเหมาะ พร้อมจับเวลาเพื่อฝึกฝนการบริหารเวลาขณะที่พูดไปด้วย

ติดตามอ่าน ตำราและลิ้งค์ที่แนะนำเพื่อเตรียมตัวสอบ YKI เร็วๆนี้