วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 23, 2556

เมื่อเด็กชายไทเลอร์ย้ายมาอยู่ฟินแลนด์ (2)


ต่อจากโพส เมื่อเด็กชายไทเลอร์ย้ายมาอยู่ฟินแลนด์...

อย่างไรก็ตามเด็กที่นี่ก็มีข้อเสียหลายอย่างที่ต้องปรับปรุง และเป็นลักษณะนิสัย ที่พ่อแม่ต้องช่วยกันดูแลเสริมสร้าง เช่น 

1.การเคารพผู้ใหญ่ และกาลเทศะ เด็กหลายคนไม่เคารพครูบาอาจารย์ หัวเราะ ล้อเลียนครู และไม่มีกาลเทศะ เหตุเพราะ ไม่มีการเรียกตำแหน่งนำหน้าชื่อครู เด็กจึงเรียกแค่ชื่อเฉยๆ ซึ่งเป็นการลดความแตกต่างระหว่างครูผู้อบรมสั่งสอนกับนักเรียน    (เพราะคนที่นี่มีความเท่าเทียมกัน ทุกเพศทุกวัย) อีกอย่างหนึ่งคือ ที่นี่ห้ามตีเด็ก ห้ามลงโทษเด็กทางกายโดยเด็ดขาด ครูจึงทำได้แค่ตักเตือน หรือ ปล่อยเด็กให้นั่งหลบมุมคนเดียวเพื่อนทบทวนวีรกรรมของตัวเอง หรือแจ้งผู้ปกครองให้ทราบเพื่อสั่งสอนให้เด็กปรับปรุงตัวเอง เป็นต้น จากความเห็นของเราเอง คิดว่าวิธีการพวกนี้ไม่น่าจะทำให้เด็กหลาบจำเพราะไม่มีใครเกรงกลัวผู้ใหญ่เลย ความเคารพก็ย่อมมีน้อยลงนอกจากนั้นการที่ไม่มีเครื่องแบบนักเรียน เด็กสามารถสวมใส่เสื้อผ้าธรรมดามาเรียนหนังสือ จึงอาจเกิดช่องโหว่ให้เด็กบางคนสวมใส่เสื้อผ้าอย่างไม่ถูกกาลเทศะเช่น ครั้งแรกที่พวกเราไปงานประชุมผู้ปกครองเราเห็นเด็กผู้หญิงวัยมัธยมต้นคนหนึ่ง          นุ่งน้อยห่มน้อยมาโรงเรียน(เป็นช่วงหน้าร้อนแบบกระโปรงสั้นจู๋ ท่อนบนใส่แค่บิกินี่ปิดหน้าอกและคลุมด้วยเสื้อแจ็คเก็ทเท่านั้น แอบเห็นด้วยว่า สาวน้อยคนนี้มีอาการเขินอายเล็กน้อยเพราะเธอพยายามใช้หมวกกันน็อคที่หิ้วมาด้วย ปิดบังหน้าท้องเหนือกระโปรงที่ไม่มีอะไรปกคลุมเอาไว้ แหม อายแล้วยังกล้าใส่มาโรงเรียนเนอะหรือว่ามันเป็นแฟชั่นของเด็กสาววัยรุ่นของที่นี่ เพราะยิ่งแต่งตังให้เปรี้ยวเท่าไหร่ยิ่งดูโตเป็นสาวมากขึ้นเท่านั้น แต่มันไม่ถูกกาลเทศะเลยจริงๆนะเธอ

2.ความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น สิ่งนี้ระบบการศึกษาสอนไม่ได้ ต้องปลูกฝังกันในครอบครัว เนื่องจากเด็กถูกสั่งสอนให้มีความอิสระเป็นตัวของตัวเอง สมองของเด็กจึงคิดถึงแต่ตัวเอง สนใจแต่เรื่องของตัวเองความต้องการของตัวเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่เด็กจะมองข้ามความต้องการของตัวเองแล้วแล้วให้ความสนใจ ความต้องการของคนอื่น เห็นใจคนอื่น ต้องการแบ่งปัน หรือให้โดยไม่หวังผลตอบแทน วิธีที่ดีที่สุดที่จะสอนเด็กให้มีเมตตาคือ พ่อและแม่ต้องทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง

3.ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่ วัยเด็กอาจยังไม่แสดงให้เห็นเด่นชัดเพราะเป็นวัยที่มีความใกล้ชิดกับพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูมากที่สุด อีกทั้งวัฒนธรรมการแสดงความรักนั้นค่อนข้างเปิดเผย เด็กๆจึงแสดงความรักโดยการกอดและหอมแก้มหรือจุ๊บคนในครอบครัวได้อย่างน่ารัก ไม่เคอะเขิน แต่พอโตขึ้นและมีความนึกคิดเป็นของตัวเอง ยิ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นยิ่งเป็นวัยที่ต้องการแยกตัวออกจากครอบครัวและหมกมุ่นอยู่กับปัญหา, ความรู้สึกของตัวเอง, หรือเพื่อน ดังนั้นวัยรุ่นจึงใช้เวลากับครอบครัวน้อยลง การสื่อสารหรือการแสดงความรักต่อครอบครัวก็ยิ่งน้อยลงไปด้วย พอผ่านพ้นช่วงวัยรุ่นอายุย่างเข้าสิบแปดปี ก็เริ่มปีกกล้าขาแข็ง จึงย้ายออกจากบ้าน จากครอบครัวเพื่อดำเนินชีวิตของตัวเอง  ทีนี้ความสัมพันธ์กับครอบครัวก็เริ่มห่างเหิน นานทีปีหนก็กลับมารวมญาติเช่น เทศกาลคริสต์มาส อีสเตอร์ หรือวันสำคัญของครอบครัว เป็นต้น ดูลักษณะเหมือนสังคมเมืองทั่วไป แต่ลึกๆแล้วความห่วงใยหรือการระลึกถึงพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของชาวตะวันตกนั้นเทียบไม่ ได้เลยกับ ความรักใคร่กลมเกลียวกันในครอบครัวของคนเอเชีย

ตัวอย่างพวกนี้เป็นเพียงประสบการณ์และการสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆตัวเอง อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในตัวเด็กแต่ละคน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูจากครอบครัวที่แตกต่างกันด้วย ไม่ได้เหมาหมดว่าเด็กที่นี่ทุกคนเป็นอย่างนี้ แม้ไทเลอร์เองจะมีแนวโน้มที่ไม่ค่อยเชื่อฟังแม่ มีเถียงและงอนกันบ้าง แต่อย่างน้อยเค้าฟังพ่อและอยากพูดคุยกับพ่อมากกว่าเพราะคุยกัน และสอนกันแบบผู้ชาย แต่เราก็พยายามทำกิจกรรมกับลูกบ่อยๆเพื่อที่จะได้ฝึกพูดภาษาไทยกันด้วย เช่น อ่านหนังสือ ร้องเพลง และออกกำลังกายนอกบ้าน เป็นต้น