นักเรียนเก่งที่สุดในโลกเขาปั้นกันอย่างไร?
รศ.ดร.สุพิทย์ กาญจนพันธุ์ Ph.D.
นักเรียนมัธยมอายุ 15 ปีของประเทศฟินแลนด์ สามารถทำคะแนนจากแบบทดสอบคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านได้ดีที่สุด ในบรรดาประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อการพัฒนาและร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจ (OECD-Organization for Economic Cooperation and Development)การทดสอบด้วยโปรแกรมการประเมินนักเรียนนานาชาติ เรียกว่า PISA-Programme for International Student Assessment เป็นโครงการประเมินของผลการเรียน เป็นช่วงๆ ละ 3 ปี สำหรับนักเรียนอายุ 15 ปีของประเทศสมาชิก
ปีแรกทำการประเมินในปี ค.ศ. 2000 เน้นทดสอบด้านความสามารถในการอ่าน ช่วงที่ 2 ประเมินในปี 2003 ทดสอบด้านคณิตศาสตร์ และ การแก้ปัญหา และในปีพ.ศ. 2006 ทำการทดสอบความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจากผลการทดสอบล่าสุดปี 2003 มีนักเรียนเข้าร่วมจำนวน 6,235 คน จากโรงเรียน 197 แห่ง จาก 161 ประเทศซึ่งนับรวมประเทศไทยด้วย
ปรากฏว่านักเรียนจากฟินแลนด์ ชนะเลิศในวิชาการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ส่วนเทคนิคการแก้ปัญหาแพ้แก่นักเรียนจากประเทศเกาหลีไต้เพียงเฉียดฉิว ในทุกวิชานักเรียนฟินแลนด์ ทำค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม OECD ประมาณ 40-50 คะแนน จากคะแนนเฉลี่ยโดยทั่วไปประมาณ 500 คะแนน
ความเข้าใจและใส่ใจต่อความต้องการของเด็กคือกุญแจสู่ความสำเร็จจากการสำรวจโรงเรียนของฟินแลนด์พบว่า กุญแจสำคัญอันนำไปสู่ความสำเร็จดังกล่าว ประกอบด้วย
1. การประกันความเสมอภาคทางโอกาสแก่นักเรียนทุกคนโดยไม่แบ่งชนชั้น
2. ไม่มีการเปรียบเทียบผลการเรียนระหว่างบุคคล จะเน้นการให้ความช่วยเหลือแนะแนวทางนักเรียนที่มีความต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ทั้งนี้พบว่ามีเด็กนักเรียนเพียงจำนวนน้อยนิดที่ต้องเรียนซ้ำชั้น
3. ปัจจัยเสริมอื่นๆ ที่เกื้อหนุนให้นักเรียนฟินแลนด์ เก่งกาจขนาดนี้มีหลากหลายปัจจัย เช่นเด็กเล็กๆ รู้สึกปลอดภัยและอบอุ่น และมีแรงจูงใจเพิ่มขึ้นจากการสอนของครูเพียงคนเดียว นักเรียนเรียกชื่อแรกของครู เหมือนคนไทย ไม่มีการให้เกรดในการประเมินการเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปในลักษณะอบอุ่น เป็นธรรมชาติ มีการเน้นการสร้างสรรค์บรรยากาศอันรื่นรมย์ และจูงใจให้เกิดเรียนรู้เป็นอย่างสูงในโรงเรียน การจัดให้มีเครือข่ายห้องสมุดแบบผสมผสาน การจัดให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อความสามารถในการอ่านของนักเรียนโดยตรง นักเรียนฟินแลนด์ เป็นนักอ่านชั้นยอดเกือบทุกคน รายการโทรทัศน์จากต่างประเทศ จะออกอากาศเป็นภาษาต่างประเทศโดยตรง และใช้ภาษาฟินแลนด์เป็นตัววิ่งอยู่ด้านล่าง ซึ่งเป็นวิธีช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนภาษาต่างประเทศได้ดีขึ้น สามารถ อ่านภาษาของตนเองได้เร็วขึ้น
หลักและวิธีการสอน.. การเรียนการสอนยึดหลัก การเรียนรู้ด้วยการกระทำและจากพื้นฐานกิจการของชุมชน (Learning by doing and Community Orientation) ของนักการศึกษาชาวฝรั่งเศสชื่อ Ce'lestin Freinet ซึ่งปรากฏให้เห็นทั้งในหลักสูตรแกนกลางแห่งชาติ และหลักสูตรเฉพาะของแต่ละเมือง โรงเรียนบางแห่งเช่น Stromberg School ยอมรับหลักการดังกล่าวในเชิงปฏิบัติ โดยการออกแบบและสร้างโรงเรียนให้เป็นห้องปฏิบัติการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมของผู้เรียน ตั้งแต่เริ่มเข้ามาเรียนในแต่ละชั้นเรียนจะมีหลากหลายช่วงอายุของนักเรียน จะไม่มีการนำผลการเรียนมาเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างบุคคล การมอบหมายงานระหว่างนักเรียน เรียนเร็ว และเรียนช้า จะมีความแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละคนการเรียนรู้เริ่มจากกิจกรรมประจำวันกิจกรรมการเรียนของนักเรียนเริ่มจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในงานประจำวันทั่วไป ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ละกลุ่มจะสลับกันทำกิจกรรมต่างชนิดกัน เช่นเข้าไปดูเรือนเพาะชำกล้าไม้ ชมห้องสมุด การเก็บขยะกระดาษ การนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ใหม่ การทำปุ๋ยหมัก สนามหญ้า ตู้ปลา ช่วยงานโรงอาหาร ช่วยเลี้ยงและให้อาหารเต่าทะเล ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ ครูจะไม่เป็นผู้แนะนำ แต่จะให้บุคลากรในสถานที่นั้นๆ เป็นพี่เลี้ยงให้ เช่น พนักงานทำความสะอาด แม่ครัว ยาม ฯลฯ ซึ่งทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน
ในการให้การศึกษาแก่เด็กนักเรียนทุกคนชั้นเรียนเปิดต้อนรับ พ่อ-แม่ผู้ปกครองเข้ามาช่วยสอนในห้องปฏิบัติการ และช่วงเย็นหลังเรียน ขณะเดียวกันโรงเรียนจะนำนักเรียนไปดูงานนอกสถานที่เป็นประจำในแต่ละปีโรงเรียนจะมีเป้าหลักเพื่อการเรียนรู้แตกต่างกันไปเกี่ยวกับ ดิน น้ำ ลม ไฟ (Water Earth Air and Fire) การเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ สามารถประมวลเข้ากับสถานที่ต่างๆได้อย่างกลมกลืนและมีศิลปะ เช่น สนามเด็กเล่น สถานรับรับเลี้ยงดูเด็กตอนกลางวัน ฯลฯ
โรงเรียนแบบประสมนักเรียนฟินแลนด์เริ่มเข้าเรียนตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ใช้เวลาเรียนในภาคบังคับ 9 ปี จนอายุ 15 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งค่าเรียน ค่าอาหารกลางวัน ค่าเดินทางไปกลับ จากโรงเรียน ค่าดูแลรักษาสุขภาพฟรีทั้งหมด
สรุปปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จของนักเรียนฟินแลนด์
1. โครงสร้างทางสังคมซึ่งเสริมส่งการอ่าน
ก. วัฒนธรรม ความรักการอ่านหนังสืออย่างจริงจังของชาวฟินแลนด์ เช่นเกือบทุกบ้านเป็นสมาชิกรับหนังสือพิมพ์, พ่อแม่ช่วยลูกอ่านหนังสือที่บ้าน ค่านิยมเรื่องการอ่าน การรู้หนังสือเป็นที่ยอมรับของสังคม สื่อมวลชนมีบทบาททางสร้างสรรค์ก่อให้เกิดนิสัยรักการอ่านและการเขียน ฯลฯ
ข. ระบบเครือข่ายของห้องสมุดที่มีมากมายกระจายทั่วทุกพื้นที่ มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกทันสมัย มีหนังสือตำรา ที่ควรค่าต่อการอ่านสำหรับครอบครัว สามารถสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตได้ มีพนักงานห้องสมุดที่ให้บริการอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ให้เข้ากับโรงเรียน
ค. แม่ของเด็กชาวฟินแลนด์ จะมีการศึกษาสูง ตำแหน่งการงานดี เป็นแบบอย่างแก่เด็กหญิงชาวฟินแลนด์ได้ดี โดยเฉพาะด้านการอ่านหนังสือมีมากกว่าผู้ชาย (พ่อ)
ง. การใช้ตัววิ่งภาษาฟินแลนด์ในภาพยนตร์ต่างประเทศ เสียงในฟิล์มทำให้เด็กชาวฟินแลนด์อ่านได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
จ. การท่องเน็ต, การส่งข้อความสั้นๆ (SMS) การเล่นเกมส์ เป็นงานอดิเรกสามารถเพิ่มนิสัยรักการอ่านได้ แม้อาจลดการอ่านหนังสือลงบ้าง
2. ปัจจัยเรื่องการเรียนการสอนและภาษาฟินแลนด์
ก. ตัวอักขระ และการเขียนของภาษาฟินแลนด์ ตรงกับเสียงที่เปล่งออกมาอย่างตรงไปตรงมา ทำให้การเรียนรู้ในการอ่านทำได้ง่าย (What you say is What you write)
ข. หลักสูตรแห่งชาติเน้นทักษะกลยุทธ์การอ่าน และการเขียน ส่วนวิธีการประเมินเพื่อปรับปรุงให้ครูและโรงเรียนมีอิสระในการเลือก
ค. อุปกรณ์การสอนมีหลากหลาย ครูสามารถเลือกวัสดุประกอบการสอนได้อย่างเป็นอิสระ
ง. นักเรียนมีส่วนร่วมในการเลือก หนังสือ วารสาร หรือสื่ออื่นๆ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนการอ่าน
จ. เด็กๆ จากครอบครัวผู้อพยพสามารถเรียนรู้การอ่านด้วยภาษาของตนเอง
ฉ. ครูมีส่วนช่วยให้นักเรียนอ่านหนังสือในเวลาว่างทุกโอกาส
ช. โรงเรียนและห้องสมุด, หนังสือพิมพ์ และวารสารมีส่วนช่วยในการเรียนเป็นอย่างสูง
สรุปภาพรวมของความสำเร็จ
- ถามว่าฟินแลนด์จัดหาครูเก่งได้อย่างไร?
อาจเป็นเพราะค่านิยมเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ได้รับการยกย่อง ดังนั้นการคัดเลือกผู้ที่จะไปสอน หรือฝึกสมองคน จึงกระทำอย่างเข้มข้น ผู้สมัครเข้าเรียนครู 7 คนจะได้รับการคัดเลือกเพียง 1 คนซึ่งเข้มข้นกว่าการคัดเลือกเข้าเรียนเป็นแพทย์ วิศวกร หรือ นักกฎหมาย ครูที่ไร้ความสามารถจะถูกไล่ออกซึ่งมีน้อยมาก ครูมีเสรีภาพทางวิชาการสูงมาก สามารถเลือกวิธีสอนได้เอง เลือกสื่อการสอนเองหรือไม่เลือกเลยก็ได้ ไม่มีการประเมินหรือตรวจสอบครู
- การไม่มีแบบทดสอบมาตรฐานไม่มีการสอบไล่ ทำให้นักเรียน เรียนด้วยความสบายใจไม่กดดันและเป็นธรรมชาติ มีการสอบเข้มข้นเพียงครั้งเดียวตอนอายุ 18 ปี คือการสอบเข้าเป็นนักศึกษา (Matriculation) ในมหาวิทยาลัย โดยเฉลี่ยนักเรียน 2 ใน 3 ส่วนสามารถสอบเข้าเรียนต่อได้- การให้บริการอาหารกลางวัน การเดินทาง การบริการสุขภาพและ ค่าเล่าเรียนจัดให้ฟรี ทั้งหมดทำให้ครูและนักเรียนสามารถมุ่งเรื่องการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
- นักเรียนได้รับการฝึกให้ค้นคว้าด้วยตนเอง ตั้งเป้าหมายการเรียนด้วยตนเอง และประเมินตนเองตลอดเวลา
- ครูต้องให้กำลังใจนักเรียนเท่านั้น และต้องถือว่าข้อผิดพลาดของนักเรียนคือโอกาสแห่งการเรียนรู้ใหม่ๆ ครูต้องช่วยเหลือเต็มที่
แหล่งอ้างอิง1. เฟอร์กัส บอร์เดวิช เรียนดีเลิศ Reader?s Digest กันยายน 2548. P95-1012. The Finnish School-a source of skills and well-being available : http://virtual.finland.fi/Education_Research/
posted by ดร.สุพิทย์ กาญจนพันธุ์ @ 2:38 PM
http://karnta.blogspot.com/2005/09/blog-post_112742529433820714.html