วันจันทร์, เมษายน 29, 2556

เปลี่ยนกระถาง


เปลี่ยนกระถาง

นายไพศาล (นามสมมุติ) ทำงานที่บริษัทการเงินแห่งหนึ่งมาสามสิบปี วันหนึ่งเจ้านายบอกเขาว่า “คุณไพศาล เห็นคุณทำงานหนักแล้วเป็นห่วงจัง คงจะเหนื่อยแย่เลย คุณน่าจะพักซักหน่อยนะ”

อ่านระหว่างบรรทัดได้ความว่า คำว่า ‘พัก’ แปลว่าเลิกจ้าง อ่านใจเจ้านายได้ความว่า “ตอนนี้มีคนใหม่มาแทนคุณ จบจากนอก วิสัยทัศน์กว้างไกล ที่สำคัญคือราคาถูกกว่าคุณ!”

นางสมละมัย (นามสมมุติ) ทำงานที่บริษัทการพิมพ์แห่งหนึ่งมายี่สิบห้าปี ขยันผิดปกติ ไปทำงานตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า เลิกงานหลังคนอื่น แต่เธอก็ต้องไปขยันต่อที่อื่น เพราะเจ้านายบอกว่า “เราเข้าสู่ยุคใหม่ เราต้องปรับตัว...” อ่านระหว่างบรรทัดได้ความว่า บริษัทไม่มีนโยบายเลี้ยง ‘ไดโนเสาร์’ อ่านใจเจ้านายได้ความว่า “คุณไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์ ใช้อีเมลยังไม่เป็น ไม่สามารถปรับตัวกับยุคใหม่ได้”

นายรังสรรค์ (นามสมมุติ) ทำงานที่บริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งนานยี่สิบห้าปี ตั้งแต่หนุ่มจนวัยกลางคน เขาไม่ได้เรียนจบปริญญา เริ่มจากงานเซลส์แมนระดับล่างในต่างจังหวัด ไต่เต้าขึ้นมาจนเป็นหัวหน้าและผู้จัดการ นิสัยดี ลูกน้องรัก แต่วันหนึ่งก็ถูกลูกน้องที่เรียกเขาว่า ‘พี่’ ทุกคำเหยียบหัวขึ้นมาแทนเขา เหตุผลของเจ้านายคือ “เราต้องสร้างคนใหม่ขึ้นมา” เจ้านายไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไรกับคนเก่า แต่เดาไม่ยาก ในเมื่อคนใหม่มีปริญญาสองใบจากเมืองนอก พูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนเก่าร้อยเท่า

นายสินชัย (นามสมมุติ) ทำงานในบริษัทอเมริกันแห่งหนึ่ง ขยัน นิสัยดี ซื่อสัตย์ แต่เมื่อผลผลิตไม่ถึงเป้า เขาก็ต้องจากไปตามปรัชญาการทำงานแบบฝรั่งคือ ถ้าชอบใจก็จ้างทันที เงินเดือนไม่อั้น ถ้าไม่ชอบใจก็ชี้ไปที่ประตูทางออกทันทีเหมือนกัน เจ้านายไม่พูดอ้อมค้อมให้ต้องตีความ บอกตรงๆ ว่า “คุณตามไม่ทันตลาดโลก วันๆ หมกหัวอยู่แต่ในรูเล็กๆ เดิมๆ ที่ปลอดภัย คิดแผนการตลาดแบบเดิมๆ ทำงานแบบเดิมๆ”

ตัวอย่างเหล่านี้ใช้นามสมมุติ แต่เนื้อเรื่องไม่สมมุติ มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นทุกวันทุกมุมโลก ในรอยต่อระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ คนเหล่านี้มีนับล้านๆ คน เป็นพนักงานที่ขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์ ทำงานมานาน แต่ทำไมบริษัทจึงไล่พวกเขาออกง่ายๆ ?

คำตอบคือ องค์กรชอบคนซื่อสัตย์ ทำงานหนัก แต่ไม่ได้ใช้ความซื่อสัตย์-การทำงานหนักเป็นมาตรวัดผลงานและประเมินอนาคตของบริษัท บริษัทเหล่านี้อาจไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด แต่เมื่อให้เลือกเอาระหว่างอนาคตของพนักงานคนหนึ่งกับอนาคตของบริษัท ก็ตอบได้ไม่ยาก

มองในมุมของคนที่ทำงานหนักอย่างซื่อสัตย์มานานปี “มันไม่แฟร์เลย!” แต่ในระบบทุนนิยม การว่าจ้างกับการเลิกจ้างเป็นของคู่กัน เป็นกระบวนการปกติของธุรกิจทุกวงการ คนที่ไม่เข้าใจ หรือลืมความจริงข้อนี้ มักจะทุกข์ร้อนเมื่อเวลาเลิกจ้างมาถึง หลังจากเผลอไปดาวน์รถ หรือจองคอนโดฯใหม่ได้สามวัน

คนส่วนใหญ่ชอบทึกทักเอาเองว่า หากซื่อสัตย์ต่อบริษัท ตั้งใจทำงาน จะไม่ถูกไล่ออก แต่ในยุคที่สนามแข่งขันคือโลกทั้งโลกและบริษัทส่วนใหญ่โอบรัดปรัชญา ‘กำไรสูงสุด’ ความคิดดังกล่าวไม่เป็นเช่นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำดีแค่ไหน หากไม่สร้างกำไรสูงสุด ก็อาจอยู่ไม่ได้ แม้แต่ประธานกรรมการก็ถูกไล่ออกได้!

การถูกเลิกว่าจ้างเป็นผลรวมของลูกโซ่เหตุการณ์ที่สะสมมาถึงจุดจุดหนึ่ง คนที่มองไม่เห็นภาพรวมก็มักเดือดร้อนเมื่อถึงจุดจุดนั้น หรือมองแค่จุดจุดนั้น หลายคนชอบมองระยะสั้น ไม่ค่อยมองที่ภาพรวม แก้ปัญหาเฉพาะหน้าช่วงสั้นๆ

ยกตัวอย่างเช่น หากรู้สึกว่าเงินเดือนน้อยไป ก็ไปบอกเจ้านาย เมื่อเจ้านายขึ้นเงินเดือนให้ ก็เข้าใจว่าปัญหาของตนจบแล้ว ก้มหน้าทำงานต่อไปอย่างสบายใจ แต่ไม่มองภาพรวมว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ที่ไหน บริษัทอยู่ที่ไหน และโลกอยู่ตรงไหน การตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงภายนอก ก็เหมือนกบในหม้อน้ำที่ต้มด้วยไฟอ่อน ไม่รู้ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในหม้อ กว่าจะรู้ว่าร้อน ก็กลายเป็นกบต้มสุกไปแล้ว

บางคนยึดเก้าอี้ไว้แน่น ไม่ยอมขยับตัวไปทำอะไรอย่างอื่นไม่ใช่เพราะรักงาน แต่เพราะความเคยชินกับองค์กร โดยไม่รู้หรือลืมไปว่า นโยบายองค์กรเปลี่ยนได้ตลอดเวลาและท้ายที่สุด บริษัทก็ยึดเอาผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลักเสมอ ถ้าพนักงานไม่พร้อม ไม่สามารถปรับตัวกับนโยบายใหม่ หรือมีภาพลักษณ์ว่าไม่สามารถปรับตัว ก็ต้องหลุดจากวงจรทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ผิดอย่างเดียวคือ ตามโลกไม่ทัน

ทุกๆ องค์กรประกอบด้วย ‘กระถาง’ หลายใบ กระถางหนึ่งใบต่อพนักงานหนึ่งคนจำนวนกระถางขึ้นกับขนาดบริษัท กระถางคือ พื้นที่เติบโตสูงสุดของพนักงานแต่ละคน

กระถางมีหลายขนาด หลายแบบ พนักงานบางคนเปลี่ยนกระถางทุกปีสองปี บางคนทำงานมายี่สิบปี ก็ยังไม่เคยเปลี่ยนกระถางสักครั้ง เพราะไม่โตเต็มกระถางใบนั้นสักที ต้นไม้แบบนี้มักถูกคัดออก

บางครั้งบริษัทอาจลดจำนวนกระถาง บางครั้งก็ย้ายกระถางทั้งหมดไปที่ใหม่ เจอสภาพแวดล้อมใหม่ ดินฟ้าอากาศที่ต่างจากเดิม ต้นไม้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็ต้องตายไปเช่นกัน

ต้นไม้ไม่ทุกต้นเหมาะกับกระถางใบหนึ่งๆ หากเป็นพันธุ์ไม้ที่ต้นใหญ่ รากโต งอกงามเร็ว ก็ต้องเปลี่ยนกระถางบ่อย ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นบอนไซ

นอกจากนี้ ไม่ทุกองค์กรมีกระถางใบใหญ่สำหรับต้นไม้ที่โตเร็ว บางต้นรากงอกทะลุออกนอกกระถางไชลงไปในดิน ขยับหรือย้ายไม่ได้ หากจะย้ายออกก็ต้องทุบกระถางทิ้ง หรือต้องตัดรากส่วนที่งอกนอกกระถางออกอาจส่งผลให้ต้นไม้นั้นตายได้

ดังนั้น การประเมินขนาดกระถางและอัตราการเจริญเติบโตของตัวเราเป็นระยะๆ จึงสำคัญมาก ต้องรู้จักมองภาพกว้างไกลกว่าแคว่าที่ทำงานยุติธรรมหรือไม่ จ่ายดีกว่าที่อื่นหรือไม่ ควรมองไปไกลว่าเราจะทำอะไรในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เราจะเป็นอะไร อยู่ในกระถางแบบไหน ควรวิเคราะห์สถานการณ์ในภาพรวมว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ที่นี่ ที่นี่เป็นบันไดขั้นที่เท่าไรของเรา เราจะงอกรากที่นี่นานเท่าใด ถึงเวลาเปลี่ยนกระถางแล้วหรือไม่ ถึงเวลาใส่ปุ๋ยเพื่อให้โตพอดีกระถางหรือไม่ ฯลฯ

มายาอย่างหนึ่งของลูกจ้างคือ ความคิดว่าบริษัทที่ยุติธรรมกับลูกจ้างเป็นบริษัทที่เหมาะกับเขาความจริงคือ บริษัทที่ยุติธรรมต่อลูกจ้าง ไม่แน่ว่าจะเป็นบริษัทที่เหมาะกับเขา

บริษัทที่ชั่วโมงทำงานสั้น เงินเดือนสูง ให้โบนัสปีละแปดเดือน ไม่ได้แปลว่าเป็นองค์กรที่เหมาะสมกับเรา เพราะหากในระยะยาว เราก้าวไปไม่เต็มศักยภาพของตัวเองไปไม่ถึงฝัน เงินเดือนสูง โบนัสสูงก็อาจไร้ประโยชน์ ในทางกลับกัน บางองค์กรทำงานชั่วโมงยาว ให้เงินเดือนต่ำ ไม่มีโบนัส แต่อาจเป็นบันไดขั้นสำคัญเพื่อไปถึงฝั่งฝัน เพราะบางอย่างซื้อด้วยเงินไม่ได้เช่น ทักษะพิเศษ ประสบการณ์เฉพาะตัว บทเรียนการทำธุรกิจ เป็นต้น

เราควรรู้ หรือถ้าไม่รู้ก็หาทางรู้ว่า การไปถึงปลายฝันของเรานั้นต้องการปัจจัยอะไรบ้าง ต้องมีประสบการณ์อะไรบ้าง ต้องอัพเกรดตัวเองจุดไหนบ้าง ต้องเรียนต่อหรือเปล่า ต้องใช้เงินทุนหรือเปล่า ฯลฯ

ดังนั้น ระวัง! อย่า ‘งอกราก’ ไม่ขยับตัวไปจนวันเกษียณ พอถึงวันสุดท้ายเพิ่งนึกได้ว่ายังไปไม่ถึงจุดที่ฝัน หรือเพิ่งพบว่าตัวเองเป็นบอนไซ ก็อาจช้าเกินที่จะเปลี่ยนอะไรอย่างได้ผลแล้ว

ลองถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้ :

1.การดำรงอยู่ของเราในองค์กรนี้ สร้างความแตกต่างที่ดีต่อองค์กรหรือไม่?

2.การดำรงอยู่ของเราในองค์กรนี้ ช่วยพัฒนาตัวเราหรือไม่?

3.องค์กรที่เราอยู่ให้โอกาสเราใช้ศักยภาพเต็มที่หรือไม่ มีกระถางใบใหญ่กว่านี้รอให้เราเปลี่ยนหรือไม่?

4.เราสามารถเติบโตเต็มกระถางใหม่หรือไม่?

หากคำตอบส่วนใหญ่คือ “ไม่” บางทีได้เวลากระโดดออกจากหม้อน้ำที่ต้มด้วยไฟอ่อนได้แล้ว

ซุนหวู่เขียนไว้ใน ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่ ราวห้าร้อยปีก่อนคริสต์กาลว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”

รู้เขา รู้เรา ก็คือประเมินเขา ประเมินเรา

การประเมินตัวเอง, องค์กร และโลกทำให้เรารู้ตัวว่าเราเป็นใคร เก่งแค่ไหน สำคัญแค่ไหน มีโอกาสอะไรรอเราอยู่ จะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการติดสินใจ ว่าจะทำอย่างไรกับอนาคตและความฝันของตนเอง

แน่ละ ไม่ทุกคนต้องการอยู่ในกระถางใบใหญ่ บางคนมีความสุขในกระถางใบเล็ก ทว่าหากไม่รู้จักประเมินตัวเองและสถานการณ์ บางทีแม้แต่กระถางใบเล็กก็อยู่ไม่ได้!

คนฉลาดรู้เขา รู้เรา มองข้ามชอร์ตก่อนคนอื่นสองสามก้าวและลงมือสร้างความแตกต่างให้ชีวิตตัวเอง ก่อนที่เจ้านายจะบอกว่า “เห็นคุณทำงานหนักแล้วเป็นห่วงจัง...”

วินทร์ เลียววาริณ, 27 เมษายน 2556
www.winbookclub.com